- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.00 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 4,331 คน (+34)
- เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 12 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 22 ราย
- เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศไม่เข้ากักกัน = 0 ราย
- รักษาหายแล้ว 4,024 คน (+19)
- ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 247 คน (+15)
- เสียชีวิตสะสม 60 คน (+0)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 34 ราย โดย 22 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (Quarantine Facilities)
ประกอบด้วย เคนยา 1 ราย , เยอรมนี 2 ราย ,สหรัฐอเมริกา 2 ราย , บาห์เรน 1 ราย , สหราชอาณาจักร 4 ราย ,รัสเซีย 1 ราย , บังกลาเทศ 2 ราย , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย , ไต้หวัน 1 ราย , นามิเบีย 2 ราย ,เนเธอร์แลนด์ 1 ราย ,ซาอุดีอาระเบีย 2 ราย ,อินเดีย 1 ราย และอิตาลี 1 ราย ส่วนอีก 12 รายเป็นการติดเชื้อในประเทศจังหวัดสมุทรสาคร
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 4,331 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 2,476 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,855 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วอีก 19 ราย รวมเป็น 4,024 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 247 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า สำหรับการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการได้รับความร่วมมือจากแรงงานชาวเมียนมา และประชาชนในพื้นที่ ที่ได้เข้ามารับการตรวจหาเชื้อตามการขยายผลหลังจากที่ได้พบผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นเจ้าของแพปลาในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งขณะนี้มีผู้มาขอรับการตรวจหาเชื้อกว่าพันราย ทำให้สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 12 รายในวันนี้ เมื่อรวมกับผู้ป่วยรายแรกทำให้มีจำนวนผู้ป่วยในจังหวัดสมุทรสาคร สำหรับรอบนี้เพิ่มขึ้นเป็น 13 ราย
ส่วนจะมีการล็อกดาวน์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครหรือไม่นั้น เห็นว่าน่าจะเป็นประเด็นท้ายสุด เพราะขณะนี้ยังได้รับความร่วมมือจากประชาชนค่อนข้างดี แต่หากยังคงพบว่าตัวเลขการติดเชื้อไม่ได้ลดลง และยังคงเป็นลักษณะการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนโดยไม่สามารถหาต้นเหตุได้ ก็คงจะต้องเลือกดำเนินการจากมาตรการเบาไปหาหนักต่อไป
“ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นเหตุที่ต้องล็อกทันที ต้องบอกว่าทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็ทำงานกันอย่างเข้มข้น และได้ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวมาให้ได้รับการตรวจ การล็อกดาวน์เราฟังดูอาจจะเป็นวิธีการที่ประเทศต่าง ๆ ทำกัน เนื่องมาจากบางทีไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน นั่นต้องใช้วิธีอย่างนั้น แต่ ณ ตอนนี้ฟังดูของเราได้รับความร่วมมืออย่างดี เราเห็นว่าใครป่วย เรานำเข้ารับการรักษา นั่นคือจุดประสงค์ของการควบคุมโรค แต่ถ้าชุดข้อมูลการตรวจ วันนี้เพิ่มขึ้นมาอีก 12 ราย รวมแล้วเป็น 13 ราย แล้วถ้ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ตัวเลขไม่ลดลง แล้วกลายเป็นกลุ่มก้อน คัสเตอร์ แล้วไม่สามารถบอกต้นสายปลายเหตุได้ ถึงตอนนั้นต้องเลือกมาตรการจากเบาไปหาหนัก”
“ที่ท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. พูดถึงการมีเทศกาลรื่นเริง อนุญาตให้ทำได้ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติกัน ก็อาจจะต้องเกิดมาตรการเข้มกันขึ้นมา…ล็อกดาวน์เป็นประเด็นเอาไว้หลังสุด แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นกับความร่วมมือของประชาชน ง่ายสุดคือทุกคนออกจากบ้านใส่หน้ากากอนามัย 100% มาตรการล็อกดาวน์ ยังไม่ได้เกิดขึ้น ณ วันนี้ แต่ถ้าท่านรวมมือกันก็ไม่ต้องเกิดขึ้นอีกเลย แล้วปีใหม่เราก็จะสนุกสนานกันได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวย้ำขอให้ผู้ที่มีประวัติไปตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. หากมีอาการสงสัยว่าป่วย หรือสงสัย ให้ขอรับการตรวจโควิด-19 ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง พร้อมแจ้งประวัติความเสี่ยง หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1422
สำหรับรายละเอียดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยในวันนี้ พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 34 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 22 ราย ได้แก่
รายที่ 1 มาจากเคนยา เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 48 ปี เข้าพัก Alternative State Quarantine (ASQ) ในสมุทรปราการ
รายที่ 2-3 มาจากเยอรมนี เป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุ 42 ปี และเพศชาย สัญชาติเยอรมนี อายุ 36 ปี เข้าพัก ASQ ในกรุงเทพฯ
รายที่ 4-5 มาจากสหรัฐอเมริกา เป็นเพศหญิง อายุ 22 ปี สัญชาติอเมริกัน และเพศชาติ อายุ 50 ปี สัญชาติอเมริกัน เข้าพัก ASQ ในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ
รายที่ 6 มาจากบาห์เรน เป็นเพศหญิง อายุ 35 ปี สัญชาติไทย เข้าพัก State Quarantine (SQ) ในชลบุรี
รายที่ 7-10 มาจากสหราชอาณาจักร เป็นเพศชาย อายุ 38 ปี สัญชาติอังกฤษ ,เพศชาย อายุ 57 ปี สัญชาติอังกฤษ ,เพศหญิง อายุ 16 ปี สัญชาติไทย และเพศชาย อายุ 36 ปี สัญชาติอเมริกัน ทั้งหมดเข้าพักใน ASQ กรุงเทพฯ
รายที่ 11 มาจากรัสเซีย เป็นเพศหญิง อายุ 37 ปี สัญชาติรัสเซีย เข้าพัก ASQ ในกรุงเทพฯ
รายที่ 12-13 มาจากบังกลาเทศ เป็นเพศหญิง อายุ 58 ปี สัญชาติบังกลาเทศ และเพศชาย อายุ 59 ปี สัญชาติบังกลาเทศ เข้าพัก ASQ ในกรุงเทพฯ
รายที่ 14 มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเพศชาย อายุ 53 ปี สัญชาติไทย เข้าพัก SQ ในชลบุรี
รายที่ 15 มาจากไต้หวัน เป็นเพศชาย อายุ 31 ปี สัญชาติไทย เข้าพัก ASQ ในกรุงเทพฯ
รายที่ 16-17 มาจากนามิเบีย เป็นเพศชาย อายุ 44 ปี สัญชาติอาเจนติน่า และเพศหญิง อายุ 39 ปี สัญชาติแคนาดา เข้าพัก ASQ ในกรุงเทพฯ
รายที่ 18 มาจากเนเธอร์แลนด์ เป็นเพศหญิง อายุ 45 ปี สัญชาติไทย เข้าพัก SQ ในสุมทรปราการ
รายที่ 19-20 มาจากซาอุดีอาระเบีย เป็นเพศชาย อายุ 7 ปี สัญชาติไทย และเพศหญิง อายุ 15 ปี สัญชาติไทย เข้าพัก SQ ในชลบุรี
รายที่ 21 มาจากอินเดีย เป็นเพศหญิง อายุ 44 ปี สัญชาติอินเดีย เข้าพัก ASQ ในกรุงเทพฯ
รายที่ 22 มาจากอิตาลี เป็นเพศชาย อายุ 64 ปี สัญชาติอิตาลี เข้าพัก ASQ ในกรุงเทพฯ
สำหรับรายที่ 23-34 เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ ในจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วย
รายที่ 23-30 มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ซึ่งเป็นเจ้าของแพปลาในตลาดกลางกุ้ง ประกอบด้วย
รายที่ 23 หญิงไทย อายุ 95 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง และเป็นแม่ของเจ้าของแพปลา รักษาตัวที่ รพ.สมุทรสาคร , รายที่ 24 หญิงไทย อายุ 73 ปี ซึ่งเป็นพี่สาวเจ้าของแพปลา รักษาตัวที่รพ.สมุทรสาคร , รายที่ 25 หญิงไทย อายุ 57 ปี ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของเจ้าของแพปลา รักษาตัวที่รพ.สมุทรสาคร , รายที่ 26 เพศชาย อายุ 40 ปี สัญชาติเมียนมา ซึ่งเป็นลูกจ้างของเจ้าของแพปลา รักษาตัวที่รพ.สมุทรสาคร , รายที่ 27 หญิงไทย อายุ 24 ปี อาชีพ รับจ้าง รักษาตัวที่รพ.สมทรสาคร ,รายที่ 28 เป็นชาย อายุ 32 ปี สัญชาติเมียนมา อาชีพ รับจ้าง รักษาตัวที่ รพ.เอกชน , รายที่ 29 เป็นชาย อายุ 41 ปี อาชีพ เสมียน รักษาตัวที่รพ.สมุทรสาคร และรายที่ 30 เป็นหญิง อายุ 43 ปี สัญชาติเมียนมา อาชีพ รับจ้าง รักษาตัวที่รพ.สมุทรสาคร
ส่วนรายที่ 31-34 อยู่ระหว่างสอบสวนประวัติความเสี่ยง โดยรายที่ 31 เป็นชายไทย อายุ 42 ปี อาชีพ ค้าขาย รักษาตัวที่รพ.สมุทรสาคร , รายที่ 32 หญิงไทย อายุ 20 ปี อาชีพ พนักงานบริษัท รักษาตัวรพ.เอกชน ,รายที่ 33 หญิงไทย อายุ 49 ปี อาชีพ พนักงานเก็บเงิน รักษาตัวรพ.เอกชน และรายที่ 34 ชายไทย อายุ 23 ปี อาชีพ พนักงานบริษัท รักษาตัวรพ.เอกชน
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วยรายใหม่ 716,606 ราย รวมเป็น 76,006,697 ราย เสียชีวิตแล้ว 1,681,075 ราย โดยสหรัฐมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมสูงสุด จำนวน 17,888,353 ราย รองลงมาเป็น อินเดีย จำนวน 10,004,825 ราย , บราซิล จำนวน 7,163,912 ราย , รัสเซีย จำนวน 2,791,220 ราย , ฝรั่งเศส จำนวน 2,442,990 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 152
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดกลางกุ้ง และตลาดทะเลไทย รวมถึงบริเวณใกล้เคียงเข้ามาตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวม 1,449 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งผลออกมาในวันนี้ตามที่รายงานว่าพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 12 ราย เมื่อรวมกับรายแรกที่พบทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 13 ราย โดย 4 ใน 13 รายไม่มีอาการป่วย
สำหรับรายแรกที่พบ เป็นหญิงไทยอายุ 67 ปี ทำให้มีการสอบสวนโรค และสามารถค้นพบผู้ป่วยใหม่รวม 12 ราย แบ่งเป็น สมาชิกในครอบครัวอีก 3 ราย ส่วนอีก 5 ราย เป็นผู้ป่วยที่ยังมีความเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง
ได้แก่ ลูกจ้างของผู้ป่วยรายแรก , ภริยาของลูกจ้าง ,คนที่มาซื้อของ , คนที่ทำงานในแพปลาข้าง ๆ และลูกจ้างของคนที่ทำงานในแพปลา ส่วนอีก 1 ราย ทำงานกับผู้ป่วยที่เป็นคนที่มาซื้อของ ขณะที่อีก 3 ราย เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับตลาดกลางกุ้ง โดยเป็นคนที่อยู่อาศัยใกล้กับตลาด , คนที่อยู่ในตลาดต้นสน ซึ่งใกล้กับตลาดกลางกุ้ง และอีกราย อยู่ระหว่างรอสอบสวน ซึ่งความเชื่อมโยงของกลุ่มนี้ทำให้ประเมินได้ว่ามีการติดเชื้อในตลาดเดียวกัน ตลาดข้างเคียง และในครอบครัวด้วย
ด้านผลการผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเสี่ยงต่ำ ได้มีการตรวจทั้งหมดในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงผลตรวจออกมาทั้งหมดแล้ว พบเชื้อสำหรับคนในครอบครัวและคนที่ทำงานในตลาดตามที่รายงาน ส่วนผลการค้นหาผู้สัมผัสในพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยลง ได้มีการตรวจคัดกรองต่อเนื่อง ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็ออกมาแล้วตามที่รายงานที่เหลือก็จะทยอยออกมาตามลำดับ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลค่อนข้างชัดถึงการระบาดในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร การดำเนินการต่อไป ก็จะมีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วต่อเนื่องและได้มีการเก็บตัวอย่างไปหาเชื้อ 1,449 ตัวอย่าง โดยมีเป้าหมายจะตรวจให้ได้อย่างต่ำ 2,000 ตัวอย่าง จากนั้นจะนำข้อมูลจากการเก็บตัวอย่างและการสอบสวนโรคทั้งที่เป็นผู้ป่วยและผู้ที่ไม่มีเชื้อ นำมาตีกรอบการคำนวณถึงกรอบการระบาด และมาตรการต่อไปจะดำเนินการเฝ้าระวัง ทั้งในรพ.สมุทรสาคร รพ.บ้านแผ้ว รพ.มหาชัย และรพ.อื่น ๆ ที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงคลีนิก และร้านขายยา ถ้าพบผู้ป่วยต้องสงสัยให้ส่งตรวจทันที
ทั้งนี้ ความร่วมมือของจังหวัดสมุทรสาครมีความสำคัญมาก ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์และสั่งการหลายอย่าง เช่น การจำกัดการเคลื่อนย้ายในจังหวัดสมุทรสาครของแรงงานบางกลุ่ม เป็นต้น ฉะนั้น จะเห็นว่าทางการมีมาตรการต่าง ๆ ที่ลงไป และผลการดำเนินงานจะค่อย ๆ ทยอยออกมาเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.) นั้น ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือให้ยกเลิกจากผู้ที่เกี่ยวข้องลงมา ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนที่มีสิทธิไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเน้นย้ำให้สวมหน้ากากตลอดเวลา และการต่อแถวเพื่อเข้าคูหาให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร และควรไปเลือกตั้งในช่วงเช้า หรือเว้นช่วง อย่าให้แออัดเกินไป ขณะที่บริเวณคูหาเลือกตั้งก็จะมีการจัดจุดล้างมือและแอลกอฮอล์เจลเพื่อให้ประชาชนทำความสะอาด และถ้าเป็นไปได้ควรพกปากกาส่วนตัว เพื่อลดการสัมผัสกับสิ่งที่ใช้ร่วมกันหลายคน
“สำหรับสมุทรสาครเช่นเดียวกัน ขณะนี้ยังสามารถจัดการเลือกตั้งได้ ยังไม่มีคำสั่งให้ยกเลิกหรืออะไรจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งจากกกต.หรือท่านผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ขอเน้นย้ำให้ใช้มาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่การเลือกตั้งต่าง ๆ จะได้มีความปลอดภัยมากที่สุด”
นพ.โอภาส กล่าว
ส่วนการรับประทานอาหารทะเลนั้น ยังสามารถรับประทานได้ตามปกติ เพราะมาตรการป้องกันโรคอย่างหนึ่งคือ รับประทานอาหารสุก ร้อน ถ้าปรุงอาหารสุกร้อน สามารถฆ่าเชื้อได้ รวมถึงเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ด้วย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการสอบสวนการควบคุมการระบาดอยู่ในตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นตลาดขายสัตว์น้ำจืดเป็นหลัก ทำให้ยังจำกัดวงอยู่แค่นี้
ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดในตลาดกลางกุ้ง จะเหมือนกับเหตุการณ์ในเมืองอู่ฮั๋น ของจีน ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปลายปี 62 นั้น เห็นว่ามีความเหมือนกันคือเป็นตลาด แต่มีความต่างกันตรงที่ความสามารถในการจัดการปัญหาได้ดีกว่า เพราะปัจจุบันประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และรู้วิธีการป้องกันแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 63)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร