นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการหารือร่วมกับทีมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อสรุปว่า จะมีการตั้งคณะทำงานร่วม 2 หน่วยงาน 1 ชุด
ซึ่งฝั่งกระทรวงสาธารณสุขมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นตัวแทน หารือร่วมกับทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ได้แผนการดำเนินงานการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลในการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นหากสามารถดำเนินการได้ตามแผน คาดว่าจะทดลองวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1 เข็มแรกได้หลังสงกรานต์ 2564
ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาและสนับสนุนการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของคนไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีแนวทางการดำเนินงานจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อประชาชนไทย มี 3 แนวทาง คือ
- การทำความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้มีโอกาสได้วัคซีนเร็วขึ้น
- การจัดซื้อวัคซีนเพื่อนำมาใช้ในประเทศ โดย 2 แนวทางนี้ประเทศไทยมีความร่วมมือกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัดและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในการจองและซื้อวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส คาดว่าจะฉีดให้แก่ประชาชนไทยกลุ่มเป้าหมายได้ในกลางปี 2564
- การวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศเพื่อให้ผลิตได้เอง ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน อย่างการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้สนับสนุนงบในการดำเนินการไปแล้ว 355 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 63)
Tags: COVID-19, mRNA, กรมควบคุมโรค, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการอาหารและยา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19