ประวิตร สั่งเดินหน้าศึกษาแนวทางผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล แก้ปัญหาขาดแคลนใน EEC

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการดำเนินงานคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แบ่งเป็น

  1. แนวทางและกรอบการดำเนินโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Roadmap) ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2564-2567 ได้แก่ การศึกษาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล การจัดทำนโยบายราคาน้ำจืดจากน้ำทะเล การเตรียมการลงทุน การก่อสร้างระบบท่อ/ระบบไฟฟ้า การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน เป็นต้น
  2. ร่างขอบเขตโครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ในพื้นที่เป้าหมายอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในโครงข่ายน้ำของลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก โดย สทนช.ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณงบกลาง ปี 2564 เพื่อดำเนินการศึกษาและเร่งขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่หน่วยงานเตรียมเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2565 ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำความจุ 15 ล้าน ลบ.ม.กรอบวงเงิน 1,370 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2565-2568) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำดิบสำรองเพื่อการอุปโภคและบริโภคในพื้นที่ มีพื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน 10,000 ไร่ ฤดูแล้ง 3,000 ไร่ ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยาในการเสริมศักยภาพการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง ขณะเดียวกันยังสนับสนุนน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่วนหนึ่งด้วย

ที่ประชุมยังติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช. ) แล้ว ทั้งสิ้น 32 โครงการ พบว่า มีจำนวน 6 โครงการที่อยู่ระหว่างขอตั้งงบประมาณปี 2565 ส่วนอีก 23 โครงการผ่านคณะรัฐมนตรีและได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้ว แต่บางโครงการยังติดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชฯ ซึ่งได้ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ขณะที่อีก 3 โครงการที่ผ่าน กนช.แล้วแต่ยังไม่เสนอคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดเสนอโครงการเพื่อให้ทันกับการขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2565 ได้ตามแผน รวมถึงเร่งขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 151 โครงการ ให้สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายด้วยเช่นกัน แบ่งเป็น ปี 2564 จำนวน 51 โครงการ ปี 2565 จำนวน 48 โครงการ และปี 2566 จำนวน 52 โครงการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top