รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) กล่าวถึงกรณีที่ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ใช้อำนาจประธานสั่งปิดการประชุมกระทันหัน
หลังจากกมธ. ประชุมได้เพียง 1 ชม.เศษ ว่า ที่ประชุมพิจารณาการแก้ไขมาตรา 256 เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 โดยมีการเปรียบเทียบกับหมวดอื่นๆ ว่าควรจะต้องทำประชามติหรือไม่ แต่เมื่อนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. ตั้งคำถามถึงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ประธานชั่วคราวกลับใช้อำนาจสั่งปิดประชุม ซึ่งตนผิดหวังในตัวกมธ.จากสัดส่วน ส.ว. เพราะไม่ได้มีเจตนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
นายรังสิมันต์ กล่าวถึงบรรยากาศในที่ประชุมคณะกมธ.ฯ ว่า เริ่มต้นด้วยการปิดไม่ให้มีการถ่ายทอดออกไปนอกห้องประชุมก่อน เพราะคงกลัวดูไม่ดีในสายตาประชาชน โดยนายมหรรณพ ในฐานะประธานที่ประชุมชั่วคราว พยายามห้ามปรามไม่ให้มีการพาดพิงกัน จนที่สุดใช้อำนาจสั่งปิดที่ประชุมทันที พร้อมย้ำว่า ประเด็นที่เกิดความขัดแย้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกล่าวถึงหมวด 1 และหมวด 2 แต่เป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างของ 2 ฝ่ายว่าควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย หรือให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก
ด้านนายธีรัจชัย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรจะเปิดให้กมธ.ได้พูดทุกแง่มุม แต่ตนในฐานะเป็นรองประธานกมธ. กลับถูกสกัดไม่ให้พูด และถูกใช้อำนาจปิดการประชุม เมื่อตั้งคำถามถึงความจริงใจเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ หลังมีความเห็นแตกต่างกันใน กมธ.ฝ่ายหนึ่งอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยง่าย อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยง่าย
นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือขบวนการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ญัตตินายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 รวมถึงความพยายามให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับ ตามความเห็นของนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เอกสารชวเลขของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ระบุว่าสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะโฆษกกมธ. กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมกมธ.ฯ มีการเสนอแก้ไขมาตรา 256 ให้มีเงื่อนไขการแก้ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง กมธ.กำลังพูดคุยกันว่าเห็นอย่างไร เป็นลักษณะการอภิปรายอย่างกว้างขวางที่ยังไม่เสร็จสิ้น และยังไม่มีการลงมติแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ยังเป็นการอภิปรายทั่วไปให้ครอบคลุมเนื้อหาที่อยู่ในร่าง จากนั้นจึงจะพิจารณาในรายละเอียดแต่ละประเด็นที่กมธ.แต่ละคนได้แสดงความเห็นไว้ ซึ่งเราเห็นความสำคัญของการพิจารณาที่รอบคอบหลากหลาย
ส่วนการถกเถียงกันของกมธ.ในการประชุมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งแต่ละท่านมีการอภิปรายแสดงเหตุผลประกอบ บางครั้งอาจมีการพาดพิงกันบ้าง ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้าง ก็มีการชี้แจงจากผู้ที่ถูกพาดพิง แต่เหตุผลประกอบอาจจะการพาดพิงกันอีกก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการประชุม
“เหตุการณ์ในวันนี้ อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ที่มีการอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญเก่า แต่ยืนยันว่าการทำงานของคณะกมธ.ฯ ยังเดินหน้าไปด้วยดี โดยที่ทุกคนมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเอง”
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ กมธ.ในส่วนของพรรคก้าวไกล ระบุว่าในการประชุมมีการปิดกั้นการแสดงความเห็น และรวบรัดปิดประชุมนั้น นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า เป็นดุลยพินิจของผู้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในตอนนั้น เมื่อเห็นว่ากมธ.บางท่านกำลังมีอารมรณ์ในการชี้แจงเหตุผลที่ต่างกันท่านจึงปิดประชุม ไม่ได้ผิดปกติ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่จะดำเนินการ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ในฐานะประธานกมธ. ได้กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดอ่อน ให้ทุกคนอภิปรายอย่างเต็มที่ โดยหลังจากนี้จะเริ่มพิจารณาในรายละเอียดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยคาดว่ากลางเดือนม.ค. 64 การพิจารณาทั้งหมดจะแล้วเสร็จ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 63)
Tags: กมธ., จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, ธีรัจชัย พันธุมาศ, พรรคก้าวไกล, มหรรณพ เดชวิทักษ์, รังสิมันต์ โรม, วิรัช รัตนเศรษฐ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ