นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด
เช้านี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S.Treasury) ได้เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.63 ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring List จากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์ สรอ.และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ โดยในรอบนี้มีคู่ค้า 10 ประเทศที่จัดอยู่ใน Monitoring list ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ไทย และอินเดีย
นายจันทวรรณ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring list ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคธุรกิจไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ และการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท.เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของธนาคารกลางและความจำเป็นของสถานการณ์
ตลอดช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังดูแลเรื่องนี้อยู่ ส่วนกระทรวงการคลังก็ต้องติดตามเพราะยังไม่รู้ว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการตอบโต้อะไรออกมาบ้าง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 63)
Tags: กระทรวงการคลังสหรัฐ, การค้าระหว่างประเทศ, ค่าเงิน, ค่าเงินบาท, จันทวรรณ สุจริตกุล, ธนาคารแห่งประเทศไทย, เศรษฐกิจไทย