สมาคมกุ้งฯ คาดผลผลิตปี 64 โต 15% มาที่ 3.1 แสนตัน จาก 2.7 แสนตันปีนี้

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย คาดว่าในปี 2564 ปริมาณผลผลิตและส่งออกกุ้งของไทย จะพลิกฟื้นขึ้นมาเติบโตได้ 15% ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1 แสนตัน เพิ่มขึ้น 15% จากปีนี้ที่คาดผลผลิตกุ้งเลี้ยงโดยรวมอยู่ที่ 2.7 แสนตัน ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าจากปัญหาเรื่องโรคระบาด ความไม่มั่นใจในสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดและสถานการณ์ราคา

ด้านการส่งออกกุ้งช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.63) มีปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกในปริมาณ 135,249 ตัน ลดลง 9% มูลค่า 40,185 ล้านบาท ลดลง 11% ซึ่งเป็นการลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า โดยคาดว่าการส่งออกในปี 63 จะมีปริมาณ 1.5 แสนตัน ลดลง 14% จากปีก่อน มูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 21%

“เป้าปีหน้าไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริงหรือเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีความพร้อมด้านการผลิต ทั้งการผลิตลูกกุ้ง ระบบเลี้ยงที่ดี ระบบห้องเย็นที่ดี”

นายสมศักดิ์ กล่าว

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันคือ อัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะที่เงินบาทแข็งค่า 11% แต่เงินรูปีของอินเดียอ่อนค่า -14% เงินด่องเวียดนามอ่อนค่า -2% และเงินรูเปียของอินโดนีเซียอ่อนค่า -4% ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ได้แก่ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา, การเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (อียู) , การควบคุมคุณภาพสินค้า เช่น ปลอดเชื้อโควิด-19, การจัดหาแหล่งเงินทุน เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มราคากุ้งในปี 64 น่าจะเพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการเพิ่มขึ้น แต่มีปัจจัยสำคัญจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อการขนส่ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทยและประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีพื้นที่เลี้ยงกุ้งราว 30% ของพื้นที่เลี้ยงกุ้งทั้งประเทศ โดยปีนี้มีผลผลิตรวม 9.8 หมื่นตัน คิดเป็น 35% ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ และในปี 64 คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีนี้ 5%

นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า ปีนี้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนมีกำลังการผลิต 8.5 หมื่นตัน คิดเป็น 30% ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ แต่ช่วงสองไตรมาสหลังมีภาวะฝนตกส่งผลให้เกิดโรคที่กระทบต่อกำลังการผลิตลดลงไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 62

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แต่ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดีของรัฐบาลช่วยให้สถานการณ์คลี่คลาย และอุตสาหกรรมกุ้งยังดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยทิศทางในอนาคตต้องเน้นเรื่องคุณภาพผลผลิตกุ้งที่สะอาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลก

น.ส.พัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งในภาคตะวันออกและภาคกลางว่า การล็อคดาวน์จากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตในภาคตะวันออกลดลงเหลือ 5.7 หมื่นตัน หรือลดลง 17% จากปีก่อนที่มีผลผลิต 6.9 หมื่นตัน เนื่องจากเกษตรกรไม่มั่นใจที่จะลงทุนเลี้ยงต่อเนื่อง ส่วนภาคกลางมีผลผลิต 3 หมื่นตัน ลดลง 6% จากปีก่อนที่มีผลผลิต 3.2 หมื่นตัน แต่ในปี 64 คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนลูกกุ้งที่โตขึ้น เพื่อเพิ่มอัตรารอด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top