สธ.ปลดล็อกกัญชา-กัญชง-พืชกระท่อมพ้นยาเสพติดประเภท 5 มีผลวันนี้

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขวานนี้ เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยให้ กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชาเช่น ยาง น้ำมัน ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

  • (ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
  • (ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
  • (ค) สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก
  • (ง) เมล็ดกัญชง (hemp seed), น้ำมันจากเมล็ดกัญชง (hemp seed oil) หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง (hemp seed extract)
  • (จ) กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชงและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol , THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก
  • พืชกระท่อม พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกระท่อม เช่น แอลคาลอยด์
  • พืชฝิ่น พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Papaver somniferumL. และ Papaver bracteatum Lindl. หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น
  • เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis (Earle) Singer หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin

สำหรับการนำเข้าวัตถุหรือสารของกัญชาและกัญชงให้นำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ของกัญชาและกัญชง

กรณียาเสพติดให้โทษที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์นั้น ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top