ครม.กำหนดประเภทอาคารที่ต้องทำประกันภัยสำหรับบุคคลภายนอก

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัย ที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

สาระสำคัญร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ ได้แก่

1.กำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย รื้อถอน หรือการใช้อาคารของเอกชนต้องทำประกันภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งอาคารของเอกชน ได้แก่

  • อาคารขนาดใหญ่
  • อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
  • อาคารสูงของเอกชน
  • อาคารชุมนุมคน
  • โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมที่มีห้องพักในอาคารหลังเดียวตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
  • สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป
  • ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป

2.กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล ไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทต่อครั้ง และคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก ไม่น้อยกว่า 500,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งการได้รับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ไม่เป็นการตัดสิทธิ์ผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น

3.เมื่อเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารที่ทำประกันภัยแล้ว จะต้องแสดงสำเนากรมธรรม์ประกันภัยไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจนภายในอาคารนั้นด้วย

4.อาคารที่มีอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงบังคับใช้ จะต้องทำประกันภัย โดยยื่นหลักฐานการทำประกันภัยต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้บังคับใช้ และให้ยื่นหลักฐานการทำประกันภัยทุกปีระหว่างการใช้อาคารนั้น ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 60 วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top