ASPS มองทิศทางเงินบาทยังแข็งค่าจากทุนสำรองฯ-เกินดุลฯสูง หนุน Fund Flow เข้า

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงายวิจัย บล.เอเซียพลัส (ASPS) เปิดเผยในรายการ ห่วงใย Thai Business ช่วง Economic Update ว่า มองทิศทางค่าเงินบาทในปี 64 จะยังคงแข็งค่า จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 30.00 บาท/ดอลลาร์ เป็นผลมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้าทั้งทางตรงและทางอ้อมหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐสิ้นสุดลง

ขณะเดียวกันทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยก็อยู่ในระดับสูง หรือ 13.5 เท่า ของยอดนำเข้าต่อเดือน ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง จีน ที่อยู่ในระดับ 14.1 เท่า, ญี่ปุ่น 15.6 เท่า ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.6 เท่า ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเห็นเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาพักในบ้านเราเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมาจากการเกินดุลการค้า ซึ่งหากในปี 64 สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป จะเป็นปัจจัยหนุนให้การเกินดุลการค้าปรับตัวสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมถึงยังส่งผลให้เงินทุนจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติที่น่าจะเห็นความชัดเจนขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย

ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส คาดการณ์ว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าและเงินทุนเคลื่อนย้ายจะทำให้ในปี 64 กำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) จะเติบโต 38% หรือกว่า 7 แสนล้านบาท จากปีนี้คาดอยู่ราว 5 แสนล้านบาท ทำให้ Market Earning Yield Gap กว้างขึ้น ส่งผลทำให้ราคาหุ้นถูกลง และน่าจะดึงดูดเม็ดเงินไหลเข้ามา

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ด้านมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมาทาง ธปท. ก็มีการออกมาตรการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท เช่น ลดการออกพันธบัตรระยะสั้น, เปิดให้คนไทยฝากเงินบัญชีเงินตราต่างประเทศได้, ปรับเกณฑ์ให้นักลงทุนรายย่อย และสถาบัน ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกขึ้น, กำหนดการลงทะเบียนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ในต่างประเทศได้ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่พยายามผลักดันเงินให้ออกไปมากกว่าบล็อกเงินไหลเข้า

แต่มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการในระยะสั้น เพราะหลังจากนั้นเงินบาทก็กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ดังนั้น จึงจะต้องติดตามมาตรการของ ธปท. ที่จะออกมาเพิ่มเติม ซึ่งคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น การใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศแทรกแซงค่าเงิน (มีความรุนแรงน้อย), การควบคุมปริมาณธุรกรรมที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงินต่างชาติ (มีความรุนแรงปานกลาง), การเก็บภาษีจากธุรกรรมลงทุนของต่างชาติ เช่น กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และเงินต้น (มีความรุนแรงสูง) เป็นต้น

ซึ่งมองว่ามาตรการที่ออกมาไม่น่าจะใช้ความรุนแรงมากนัก ส่วนใหญ่น่าจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่า หรือมีการแทรกแซงด้วยการส่งสัญญาณเป็นครั้งคราว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top