นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยองค์การเภสัชกรรม ลงนามความร่วมมือกับ บจก.ใบยา ไฟโตฟาร์ม สตาร์ทอัพโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บจก. คินเจน ไบโอเทค ผนึกกำลังเป็นทีมไทยแลนด์ ในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องโรคโควิด-19 จากใบพืช ในประเทศโดยคนไทยเพื่อคนไทย
โดยได้ผนึกกำลังเป็น “ทีมไทยแลนด์” ถือเป็นความหวัง ความภูมิใจ และเป็นขีดความสามารถใหม่ของประเทศไทยที่จะผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำ ลดการพึ่งพาต่างชาติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการวัคซีนเพื่อคนไทยสำเร็จลุล่วง
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ทีมไทยแลนด์ ประกอบด้วย องค์การเภสัชกรรม บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และ บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ที่ได้ร่วมมือกัน ค้นคว้า วิจัย พัฒนา วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ ไทยจะมั่นคงด้านสุขภาพยิ่งขึ้นไปอีก เพราะความสำเร็จในการผลิตวัคซีนของบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม ที่จะเข้าสู่การทดลองในคนปี 2564 อย่างไรก็ตามไทยให้ความสำคัญกับทุกทีมผู้ผลิต ซึ่งทางองค์การอาหารและยา (อย.) พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่
“เมื่อได้วัคซีนมาตามแผนแล้ว คนไทยได้ใช้ฟรีแน่นอน อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และจะฉีดให้ตามลำดับ บุคลากรทางการแพทย์ จะได้สิทธิเข้าถึงก่อน” นายอนุทิน กล่าว
สำหรับบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม ได้มีการขอทุนสนับสนุนกับภาคประชาชน 500 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการวิจัย ในประเด็นนี้ ทีมวิจัยที่ต้องการงบภาครัฐจะมีงบช่วยเหลือให้ โดยทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ของบช่วยเหลือไป 150 ล้านบาท ขณะนี้เรื่องอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว และตนจะผลักดันอย่างเต็มที่
ด้านนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าว องค์การเภสัชกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Covid-19 vaccine) เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอย่างเร็วที่สุด ครั้งนี้เป็นการผลิตวัคซีนโดยคนไทยเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง โดยใช้ความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน โดยได้ร่วมมือจากบริษัทวิจัยในประเทศไทย คือ บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม เป็นผู้ค้นคว้า วิจัยและพัฒนา ผลิตวัคซีนตั้งต้น บริษัท คินเจน ไบโอเทค เป็นผู้ทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ และองค์การเภสัชกรรมจะทำหน้าที่ตั้งตำรับและบรรจุวัคซีนสำเร็จรูป สำหรับการทดสอบทางคลินิกเฟส 1-2 ในมนุษย์
ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมได้มีบทบาทในการพัฒนาและจัดหาวัคซีน 4 แนวทาง ได้แก่
- 1) การวิจัยและพัฒนาจากต้นน้ำ ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากไข่ไก่ฟัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง และจะศึกษาประสิทธิภาพในมนุษย์ต่อไป
- 2) โครงการนำเข้าวัคซีนมาแบ่งบรรจุ โดยได้ร่วมมือกับบริษัท Sinopharm ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามความร่วมมือ และเตรียมความพร้อมการผลิตในระดับอุตสาหกรรม
- 3) ให้ทุนกับมหาวิทยาลัยในการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบป้องกันโรคโควิด 19 อาทิ วัคซีน Subunit จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัคซีน Virus-like particle จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- 4) ร่วมมือกับบริษัทวิจัยในประเทศไทย ในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด จากใบพืช ซึ่งได้ทำการลงนามความร่วมมือในวันนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 63)
Tags: วัคซีนต้านโควิด-19, วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์, สาธารณสุข, องค์การเภสัชกรรม, อนุทิน ชาญวีรกูล