นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “คนพลังงานรุ่นใหม่ ร่วมใจสู่ทิศทางไทยในอนาคต” ซึ่งเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งเดินหน้าจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศแบบบูรณาการ ทั้งด้านก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า น้ำมัน พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้จัดทำแผนพลังงานให้มีความยืดหยุ่น และสถานการณ์ Digital Disruption ให้ทันท่วงที
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พร้อมด้วยแผนที่เกี่ยวข้อง และให้นำแผนทั้งหมดที่เสนอไปรวมให้เป็นแผนเดียวกันอย่างมีเอกภาพและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในปี 2564 ประกอบกับการวางแผนพลังงานโดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่ผ่านมาใช้การประมาณการเศรษฐกิจระยะยาวเป็นสมมติฐาน ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนอันมาจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จำเป็นต้องมีการทบทวนให้สอดคล้องกับสถานะความเป็นจริง
นอกจากนี้แผนควรมีการกำหนดการดำเนินการให้มีความยืดหยุ่น มีเป้าหมายในระยะสั้น ระยะปานกลาง 5-10 ปี มากกว่าการวางแผนในระยะยาว 20 ปี รวมถึงปัจจุบันแผนพลังงานของไทยต้องมีการวางแผนเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงยุค Digital Disruption ทั้งในด้านสภาวะโลกร้อนและพลังงานสะอาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ “คนพลังงานรุ่นใหม่ ร่วมใจสู่ทิศทางไทยในอนาคต” ในวันนี้ มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากบริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ประเทศไทย มาร่วมแบ่งปันข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และการคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทิศทางการพัฒนาและความท้าทายด้านพลังงานโลกและของไทยในอนาคต เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดกรอบภาพอนาคตของพลังงาน
นอกจากนี้ การวางแผนและกำหนดเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา คือ เป้าหมาย 3 ปี 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรคนรุ่นใหม่ซึ่งมีทักษะแห่งอนาคต เข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย แนวทางการดำเนินธุรกิจรองรับ Digital Disruption อย่างทันท่วงที อีกทั้งบุคลากรเหล่านี้จะก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารเป็นผู้นำในเรื่องพลังงานในอนาคตอีกด้วย การประชุมระดมสมองครั้งนี้จะเป็นการให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ ทั้งส่วนราชการในสังกัดกระทรวงพลังงานทั้ง 4 แห่ง รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) มาร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะกรอบแนวทางการเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจในยุค New Normal และด้านพลังงานในยุค Digital Disruption ได้อย่างมีศักยภาพ
“การจัดทำแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศแบบบูรณการครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการจัดทำแผนแบบบูรณาการครบวงจรทั้งด้านก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า น้ำมัน พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน ในลักษณะ Bottom Up เสนอจากผู้ปฏิบัติงานมาสู่ระดับนโยบาย ซึ่งจะได้นำผลจากการระดมความเห็นครั้งนี้มาร่วมกันกำหนดนโยบายและจัดทำแผนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป”
นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวอีกว่า การดำเนินการครั้งนี้ เพื่อเป็นการเริ่มต้นจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (Thail Integrated Energy Blueprint :TEIB) ที่มีเป้าหมายจัดทำแผนระยะสั้น 5 ปี (ปี 2565-2570 ) ระยะปานกลาง 5-10 ปี และระยะยาว 20 ปี ซึ่งเป็นการรวบ 5 แผนพลังงาน ให้กลายเป็นแผนเดียวกัน
ทั้งนี้ ภายหลังการจัดทำรายละเอียดแล้ว จะจัดให้มีการจัดสัมมนาเพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในเดือนมี.ค.64 และจะเห็นแผนชัดเจนในเดือนเม.ย.64 ก่อนนำเสนอ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบนำไปสู่แผนปฏิบัติต่อไป
เบื้องต้นแผนดังกล่าวจะต้องกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ และสอดรับกับนโยบายของอาเซียนที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% ในปี 2573 ขณะที่ทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานหมุนเวียน(RE) รวมถึงเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจภาคพลังงาน ขณะเดียวกันจะพิจารณาปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพออกให้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง 30-40% รวมถึงการไม่เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่จะยังคงให้มีโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากต่อไป
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวและกลับมาเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 น่าจะยังคงไม่เข้ามาในประเทศไทย
ขณะที่ในส่วนของภาคพลังงานนั้น ภาครัฐจะต้องมีเป้าหมายด้านพลังงานอย่างชัดเจน เพราะคาดว่าใน 10 ปีจะก้าวไปสู่ EV ทั้งหมด และแบตเตอรี่ ที่ราคาเริ่มลดลงจนถึงจุดที่คนเข้าถึงได้ ดังนั้น จึงต้องมีความชัดเจนถึงประเภทของน้ำมันที่จะยังคงมีการใช้อยู่ ตลอดจนการปรับสายส่งไฟฟ้าไปสู่สมาร์ทกริด ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงควรพิจารณาถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงด้วยว่าควรจะนำมาใช้สำหรับการผลิตปิโตรเคมี และนำ LNG ที่มีราคาต่ำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแทนหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 63)
Tags: Digital disruption, ก๊าซธรรมชาติ, กุลิศ สมบัติศิริ, ดนุชา พิชยนันท์, น้ำมัน, พลังงาน, พลังงานทดแทน, ไฟฟ้า