นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง ผลกระทบโควิด-19 ระลอกสองในไทยไม่รุนแรง เนื่องจากมีระบบติดตามไต่สวนโรคที่ดีจำกัดการแพร่ระบาดได้ (ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อในอันดับที่ 151 สหรัฐฯอยู่ในอันดับที่ 1 และอินเดียอยู่ในอันดับที่ 2) แต่ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการจัดงานอีเวนท์ คอนเสิร์ตต่างๆ กิจกรรมการเดินทางและท่องเที่ยวชะลอตัวกว่าที่คาดไว้เดิม โดยคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวและกิจกรรมจับจ่ายใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่สูญเสียไปไม่ต่ำกว่า 14,100-16,920 ล้านบาทในช่วงปลายปีนี้หลังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสอง
ช่วงเทศกาลปีใหม่ปีที่แล้วรายได้นักท่องเที่ยวชาวไทยอยูที่ประมาณ 28,200 ล้านบาท สำนักวิจัยหลายแห่งมีผลสำรวจตรงกันว่า ชาวไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพลดงบประมาณใช้จ่ายช่วงปีใหม่ลงมาอย่างชัดเจน เฉพาะในกรุงเทพฯจะมีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทางการต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการลับลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดนไม่ผ่านการกักกันโรค หากไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจปีหน้า และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจต่ำกว่า 4% ได้ ส่วนการแพร่ระบาดระลอกสองอย่างรุนแรงในหลายประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงปลายปีต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการปรับฐานใหญ่ของราคาหุ้น ราคาทองคำ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ราคาทองคำอาจกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง มีโอกาสทดสอบ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ช่วงไตรมาสแรกปีหน้า ระยะสั้นในสัปดาห์หน้าราคาทองคำอาจเข้าทดสอบระดับ 1,845-1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ คาดว่าราคาทองคำแท่งราคารับซื้อในประเทศในสัปดาห์หน้าจะอยู่ที่บาทละ 26,150-26,600 บาท และราคาทองรูปพรรณราคารับซื้ออยู่ที่บาทละ 25,681-27,000 บาท ราคาทองคำได้ปรับฐานลงมาก่อนหน้านี้หลังจากเข้าทดสอบระดับ 1,875 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ล่าสุด ราคาทองคำ spot ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่นักลงทุนโยกเงินมาอยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้นหลังจากเกิดความไม่แน่นอนและความล่าช้าของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ความวิตกกังวลต่อผลกระทบของการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง (No Deal Brexit) และสัญญาณของแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขขอรับสวัสดิการการว่างงานเพิ่มขึ้น ยอดขายปลีก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ใบอนุญาตก่อสร้างและดัชนีที่อยู่อาศัยสร้างใหม่น่าจะออกมาในทิศทางที่แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในช่วงปลายปีเมื่อเทียบกับไตรมาสสาม และต้องติดตามดูความเคลื่อนไหวจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า และคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางของประเทศหลักจะยังไม่มีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม เนื่องจากคงดูผลของการฉีดวัคซีนก่อนว่ามีประสิทธิผลแค่ไหนในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคืนสภาวะปรกติ
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาท เงินบาทในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นมาแล้วเกือบ 4% และมีแนวโน้มจะทดสอบระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ช่วงปลายปี เนื่องจากเงินทุนยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติอยู่ในสถานะซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเกือบ 5 หมื่นล้านบาท และ ตลาดพันธบัตรเกือบ 2 หมื่น ระยะเวลาสั้นๆหนึ่งเดือนเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าแล้วเกือบ 7 หมื่น อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นในช่วงปลายปี และมีการเทขายทำกำไรในช่วงปลายปีก่อนวันหยุดยาวเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน ขอให้ติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนสถาบันต่างชาติเพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดการเงินของไทย
สภาวะเงินไหลเข้าดังกล่าวส่งผลต่อเงินบาทแข็งค่าและเป็นการยากในการใช้มาตรการสกัดการแข็งค่าอย่างได้ผล จึงเห็นว่าผู้ประกอบการส่งออกจำเป็นต้องทำประกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท โดยผู้ส่งออกควรทำสัญญาขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้า หรือ ทำ Forward เอาไว้ ไม่จำเป็นต้องทำ Option ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก แม้น option จะมีความยืดหยุ่นกว่า Forward ในการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่เนื่องจากทิศทางของเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าเป็นหลัก โอกาสอ่อนค่ามีน้อยมาก จึงไม่จำเป็นต้องใช้ Option ผู้ประกอบการควรไปเปิดบัญชีและฝากเงินสกุลต่างประเทศเอาไว้ หรือทำการค้าหรือลงทุนในรูปเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน เงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรยังคงไหลเข้าตลาดการเงินเอเชียรวมทั้งไทย ส่งผลค่าเงินบาทและค่าเงินภูมิภาคยังแข็งค่าต่อเนื่อง ผู้ประกอบการต้องบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนค่าเงินเอง เพราะการแทรกแซงค่าเงินบาทโดยทางการเป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดและทำได้ยากขึ้นตามลำดับ
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ เสนอแนวทางต่อรัฐบาลและแบงก์ชาติรับมือเศรษฐกิจปีหน้า ว่า การเชื่อมโยงเศรษฐกิจการเงินกับต่างประเทศ (Connectivity) มีความจำเป็นต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการช่วยกระจายความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจการเงิน การเชื่อมโยงทางการเงินจะทำให้การเชื่อมโยงการค้าในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคดียิ่งขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องลดต้นทุนแฝงและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการชำระเงิน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการพื้นฐานทางการเงิน (Financial Inclusion) พร้อมกับการได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ใช้บริการ เปลี่ยนรูปแบบการออมของประเทศให้เป็นการออมระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการลงทุนระยะยาวที่ต้องการการระดมทุนระยะยาวมากยิ่งขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 63)
Tags: ตลาดการเงิน, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย