สธ.ยันไม่มีการแพร่ระบาดใน 7 จ.ที่พบผู้ป่วยกรณีท่าขี้เหล็ก ผลจาการทำงานเชิงรุก

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาว่า ตัวเลขสะสมของคนไทยที่ติดเชื้อรวมเป็น 49 คน ใน 7 จังหวัดภาคเหนือ แบ่งเป็น จ.เชียงใหม่ 5 คน จ.เชียงราย 37 คน จ.พะเยา 1 คน กรุงเทพฯ 3 คน จ.พิจิตร 1 คน จ.ราชบุรี 1 คน และ จ.สิงห์บุรี 1 คน โดยเป็นผู้ที่ลักลอบเข้ามาผ่านเส้นทางธรรมชาติ 17 คน ตรวจพบใน Local Quarantine 30 คน และติดเชื้อในประเทศ 2 คน

สำหรับสถานการณ์การระบาดไม่น่าเป็นห่วง ยกตัวอย่าง จ.เชียงราย ในสถานกักกันโรคของรัฐ (Local Quarantine) มีผู้กักตัวทั้งสิ้น 188 คน ทำให้ตรวจพบเชื้อ 30 คน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 80 คน ตรวจพบเชื้อ 2 คน และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 243 คน ตรวจไม่พบติดเชื้อ

นพ.โอภาส กล่าวถึงกรณีสถานการณ์การระบาดที่ท่าขี้เหล็กว่าต่างจากสถานการณ์การระบาดในสนามมวย เนื่องจากที่ท่าขี้เหล็กสามารถตรวจจับได้ค่อนข้างเร็ว เป็นผลจากการทำงานเชิงรุก ซึ่งมีการระดมกำลังในการตรวจไปกว่า 7,000 กว่าคน โดยผลเป็นลบเกือบทั้งหมด มีผลบวกเพียง 2 คน ประกอบกับรู้จักกับโรคนี้มากขึ้นกว่าที่มีการระบาดที่สนามมวย เมื่อเดือนมี.ค. ที่เริ่มต้นระบาด

“จากการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ และการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่รวมกว่า 7 พันคน ผลเป็นลบ มีการติดเชื้อเพียง 2 รายอยู่ในการดูแลรักษาแล้ว และผู้ติดเชื้อที่เคยพบใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ กทม. พะเยา พิจิตร ราชบุรี และสิงห์บุรี ได้ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าควบคุมและติดตามผู้สัมผัสได้รวดเร็ว ส่งผลให้ไม่มีการระบาดเป็นวงกว้าง ถือว่ามีความปลอดภัยเท่ากับจังหวัดอื่น”

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอความร่วมมือภาคเอกชนทำความเข้าใจตรงกันว่า ผู้ที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องกักตัวประชาชนสามารถไปพักผ่อนท่องเที่ยวได้

สำหรับช่วงวันหยุดยาว การจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ สามารถจัดได้ เนื่องจากไม่มีพื้นที่จังหวัดไหนที่มีการแพร่ระบาด เน้นขอความร่วมมือผู้จัดงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค มีจุดคัดกรองวัดไข้ ลงทะเบียนไทยชนะ จัดอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ มีการแยกกิจกรรมเพื่อไม่ให้เกิดการปะปนมากเกินไป ส่วนบริเวณที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น ห้องน้ำ ต้องทำความสะอาดบ่อยๆ บริเวณขายอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ค้าจะต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาและเว้นระยะห่าง หรือบริเวณหน้าเวทีระวังอย่าให้ใกล้ชิดจนแออัด สำหรับผู้เข้าร่วมงานต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นช่วงรับประทาน ล้างมือ ลงทะเบียนไทยชนะ เมื่อกลับจากการท่องเที่ยวแล้วมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ขอให้ไปสถานพยาบาลและแจ้งประวัติ

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจตราร้านค้า ผู้ประกอบการต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการด้วย หากไม่ปฏิบัติตามจะแจ้งเตือน หากไม่ปรับปรุงจะปิดสถานที่ และขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา หากปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้มีกิจกรรมช่วงเทศกาลอย่างมีความสุขทุกคน

นพ.โอภาส กล่าวถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พบการติดเชื้อจำนวน 108 คน แต่เมื่อรู้จักโรคนี้ดีขึ้น ทำให้ช่วงหลังจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาไม่พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้ออีกเลย กระทั่งมี 1 รายที่ติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก Alternative State Quarantine (ASQ) และนำไปติดเพื่อนที่เป็นบุคลากรด้วยกัน ซึ่งไม่ได้ติดจากการทำงาน เป็นการติดจากการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน จึงต้องเคร่งครัดมาตรการใส่เครื่องป้องกัน ซักซ้อมการถอดใส่อุปกรณ์ตามมาตรฐานมากขึ้น ยังไม่ถึงขั้นต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลโดยไม่ออกมาภายนอก

ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้มีเพียง 6 ราย โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในโรงพยาบาลเอกชน 31 ราย ตรวจหาเชื้อครั้งแรกวันที่ 5 ธันวาคม ผลเป็นลบ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ผลเป็นลบ 30 ราย ติดเชื้อ 1 ราย คือผู้ป่วยรายที่ 6 โดยจะมีการตรวจเชื้อครั้งที่ 3 ต่อไป

ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในหอพัก ห้องสัมภาษณ์งานโรงพยาบาลรัฐ และสมาชิกครอบครัว ให้ผลเป็นลบทั้งหมด ได้เก็บตัวอย่างแล้ว คาดว่าผลจะออกในวันที่ 12-13 ธันวาคม ขณะที่ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 888 รายผลเป็นลบ

ส่วนกรณีผู้ป่วยรายแรกที่มีการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT และ BTS ช่วงเวลาสั้นๆ 10-15 นาที มีการสวมหน้ากากตลอดเวลา และไม่มีการพูดคุย ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น การใส่หน้ากากขณะโดยสารรถขนส่งสาธารณะต่างๆ จะช่วยป้องกันตัวเองและลดความเสี่ยงลงได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ธ.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top