นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาและจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้น้ำและความขาดแคลนน้ำ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า สทนช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการประเมินและจัดทำข้อมูลเป้าประสงค์ย่อย SDG 6.4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและลดการขาดแคลนน้ำ เพื่อรายงานต่อโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งที่ผ่านมา ข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้น้ำและความขาดแคลนน้ำ มีการจัดเก็บตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานซึ่งอยู่กระจัดกระจาย ไม่ได้มีการจัดรวบรวมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน
อีกทั้งมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเคยทำการศึกษาไว้ แต่ติดเงื่อนไขการเผยแพร่ข้อมูล จึงทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การศึกษาและจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้น้ำและความขาดแคลนน้ำในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่เป็นข้อมูลสำหรับการรายงานของประชาคมโลก แต่มีเป้าหมายที่สำคัญในการนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำภายของประเทศในภาพรวม และจูงใจให้หน่วยงานสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน
โดยการปฐมนิเทศในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และชี้แจงข้อสงสัยจากผู้แทนของทุกหน่วยงาน เพื่อใช้กำหนดกรอบและเงื่อนไขในการจัดเก็บข้อมูล ลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ ให้สามารถดำเนินการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างตรงเป้าวัตถุประสงค์ สะท้อนการใช้น้ำในทุกกิจกรรมของทุกภาคส่วน สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ในอนาคต สทนช.จะพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ระดับลุ่มน้ำและระดับจังหวัดสามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งการพัฒนาในระดับสากลให้สามารถใช้เผยแพร่ในระดับนานาชาติได้อีกด้วย โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้ดำเนินการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สะท้อนกิจกรรมการใช้น้ำของทุกภาคส่วน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ในกลุ่มตัวชี้วัดเรื่องประสิทธิภาพการใช้น้ำและความตึงเครียดด้านน้ำ เป็นการเฉพาะรายกลุ่มผู้ใช้น้ำ ประเภทของทรัพยากรน้ำที่ใช้ การใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างทรัพยากรน้ำภายในประเทศ และภายนอกประเทศไทย รวมทั้งการใช้น้ำเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแหล่งน้ำ สำหรับใช้เป็นเกณฑ์กลางที่เป็นมาตรฐาน มีความชัดเจนตามวัตถุประสงค์ และเป็นที่ยอมรับของทุกหน่วยงาน สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ในระดับสากลต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกพยายามขับเคลื่อนการดำเนินการด้านน้ำที่ครอบคลุมมากขึ้น จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี พ.ศ. 2563 (รายงานดัชนี SDG) ประเทศไทยถูกจัดลำดับอยู่ในลำดับที่ 41 ของโลก มีคะแนนเฉลี่ยรวม 74.54 คะแนน ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยขยับลำดับขึ้นมาจากเดิม การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีความจำเป็นเพื่อให้สามารถนำหลักการไปใช้งานในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ธ.ค. 63)
Tags: ขาดแคลนน้ำ, สทนช., สมเกียรติ ประจำวงษ์, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ