ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คาดว่าเงินบาทอาจทยอยแข็งค่าไปที่ระดับ 29.00-29.25 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายปี 2564 ท่ามกลางแรงหนุนจากปัจจัยที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะแนวโน้มการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟด เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจากปัจจัยพื้นฐานของไทยที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และความเป็นไปได้ที่จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินในเอเชียและไทยต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีสัญญาณฟื้นตัว แม้เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจบางส่วนชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงเดือนแรกๆ ที่มีการเริ่มคลายล็อกมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.63 ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 245,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาด และต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ค.63 ที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มพลิกฟื้นกลับมาจากผลกระทบโควิด-19
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในการประชุมเฟดรอบนี้ มี 2 เรื่อง คือ 1.รายละเอียดของแนวทางสำหรับโครงการซื้อสินทรัพย์ และ 2. ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เฟดจะปรับทบทวนใหม่ โดยคาดว่าเฟดน่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดของแนวทางการดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ระยะข้างหน้า (Forward Guidance) โดยเฉพาะเงื่อนไขอายุของพันธบัตรที่ซื้อและกรอบเวลาของมาตรการ QE จากเดิมที่เฟดระบุเพียงว่าจะซื้อสินทรัพย์ภายใต้วงเงินดังกล่าวต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเท่านั้น นอกจากนี้ เฟดอาจมีการปรับทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2565-2566 ตามอานิสงส์จากวัคซีน แต่จะยังคงมีมุมมองระมัดระวังต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564
ทั้งนี้ สัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟดต่อเนื่อง จะยังส่งผลกดดันทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลง และหนุนให้เงินบาท และสกุลเงินในเอเชียอื่นๆ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะยังคงเห็นเฟดส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมภายในไตรมาส 1/2564 เนื่องจากความเสี่ยงจากโควิด-19 กำลังเลวร้ายลง จนทำให้หลายรัฐต้องมีการประกาศมาตรการควบคุมสถานการณ์ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงต้องรอแรงกระตุ้นจากมาตรการฝั่งการคลังที่คงจะเริ่มมีผลจริงต่อเศรษฐกิจ ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
“ดังนั้น สำหรับผลต่อไทยที่ต้องติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด น่าจะอยู่ที่แรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งมีโอกาสแข็งค่าขึ้นเพิ่มเติมในปีหน้า” บทวิเคราะห์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 63)
Tags: ค่าเงินบาท, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท