นายวีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วีรันดา รีสอร์ท (VRANDA) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าแนวโน้มของรายได้ในปี 64 จะเติบโตขึ้นในระดับตัวเลข 2 หลัก (2 digit) จากการฟื้นตัวขึ้นของการท่องเที่ยวในประเทศหลังจากคลายล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19
ประกอบกับโรงแรมของบริษัทเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้มีนักท่องเที่ยวในประเทศเข้ามาพักมากขึ้น โดยที่โรงแรมในเครือของบริษัทในหัวหิน พัทยา และเชียงใหม่ ในช่วงไตรมาส 3/63 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่สูงถึง 80% โดยเฉพาะหัวหินและพัทยาที่เป็นใกล้กรุงเทพฯ ทำให้มีนักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น
ส่วนโรงแรมในกรุงเทพฯ คือ โรงแรม Sofitel So Bangkok และร็อคกี้ รีสอร์ท – วีรันดา คอลเล็กชัน เกาะสมุย ยังฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างช้า เพราะกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ โดยเฉพาะเกาะสมุยที่เป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวชาวไทยยังเดินทางไปน้อย ทำให้การฟื้นตัวของทั้ง 2 โรงแรมยังต้องรอการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาก่อน
นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้วางแผนการดำเนินงานในโมเดลธุรกิจใหม่ภายใต้แบรนด์ “วีรันดา คอลเล็กชัน” (Veranda Collection) แบรนด์ที่มีความแตกต่างหรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเน้นดีไซน์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเป็นแนวทางในการต่อยอดธุรกิจ และขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในอนาคตในรูปแบบการลงทุนเอง การร่วมทุน การเช่าหรือรับบริหารให้กับโรงแรม และรีสอร์ทต่างๆ ที่ต้องการใช้แบรนด์ของบริษัทมาบริหารจัดการ
โมเดลธุรกิจใหม่นี้บริษัทจะเข้าไปช่วยในการพัฒนาและบริหารจัดการโรงแรมให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มรายได้และผลตอบแทนที่ดีขึ้นของโครงการ อย่างเช่น กรณีที่เจ้าของโรงแรมมีเงินทุนไม่เพียงพอในการรีโนเวทโรงแรม โดยอาจจะช่วยเหลือในการใส่เงินลงทุนรีโนเวทโรงแรมให้กับพันธมิตรก่อน 5-10 ล้านบาท แล้วหลังจากนั้นพันธมิตรชำระคืนค่ารีโนเวทให้ พร้อมกับส่วนแบ่งรายได้จากการบริหาร ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ระยะยาวให้กับบริษัท และบริษัทไม่จำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก และบริษัทก็มีความพร้อมเข้าไปร่วมลงทุนพัฒนาในรูปแบบต่างๆอีกด้วย
“สถานการณ์ตอนนี้ผู้ประกอบการโรงแรมก็ขอกู้ยืมได้ค่อนข้างยาก โมเดลธุรกิจที่เราจะใส่เงินลงทุนรีโนเวทให้กับโรงแรมของพันธมิตรก่อนก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่เป็นโอกาส และเป็นโมเดลธุรกิจที่ไม่ค่อยเจอผู้ประกอบการรายใหญ่ๆทำ เรามองว่าเป็นโอกาสที่จะเสริมรายได้ให้กับธุรกิจในการที่เข้าไปรับบริหารโรงแรมได้เพิ่มขึ้น สร้างรายได้เข้ามาให้กับบริษัท โดยที่เราไม่ต้องใส่เงินลงทุนพัฒนาโครงการเองมาก”
นายวีรวัฒน์ กล่าว
สำหรับลักษณะของโรงแรมที่จะใช้แบรนด์ Veranda Collection ในเบื้องต้นมองว่าเป็นโรงแรมในระดับ 3 ดาวขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับระดับของแบรนด์ Veranda ที่เป็นโรงแรมรีสอร์ท บูทิค ที่เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนขึ้นไป โดยบริษัทเปิดกว้างในเรื่องของสถานที่ตั้งของโรงแรม แต่จะเน้นไปจังหวัดท่องเที่ยวที่สนใจจะขยายฐานลูกค้าออกไป เพื่อสร้างให้แบรนด์ Veranda Collection มีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่โซนกระบี่ พังงา ภูเก็ต และเขาใหญ่
ปัจจุบันรีสอร์ทภายใต้แบรนด์วีรันดา คอลเล็กชันแล้ว 2 แห่ง คือ เวอโซ หัวหิน – วีรันดา คอลเล็กชัน และร็อคกี้ รีสอร์ท – วีรันดา คอลเล็กชัน (Rocky’s Resort – a Veranda Collection) ที่เกาะสมุย โดยที่ในปี 64 บริษัทคาดว่าจะเห็นการเข้าบริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ Veranda Collection อีกอย่างน้อย 2 แห่ง
นายวีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมของการท่องเที่ยวในปีหน้าคาดว่าจะยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ เพราะการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงต้องรอไปถึงช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 แม้ว่าจะมีความชัดเจนของการนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาใช้แล้ว แต่ในส่วนของประเทศไทยยังคงต้องรอการนำวัคซีนเข้ามาใช้ก่อน ซึ่งภาคการท่องเที่ยวในประเทศยังคงต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก โดยมีมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐที่ต่อเนื่องไปถึงปีหน้าเข้ามาช่วยหนุน
ส่วนธุรกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายในรูปแบบโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทในปี 64 จะยังมีการรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมในหัวหินและพัทยาที่เป็นมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ที่เหลือโอนให้กับลูกค้าอีกราว 1 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ต่อเนื่องในปีหน้า และยังเหลือสต็อกที่เหลิอขายจากคอนโดมิเนียม 2 แห่ง อีกราว 200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะทยอยขายต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมลงทุนโรงแรมและคอนโดมิเนียมในภูเก็ตใกล้แหลมพันวา โดยจะพัฒนาเป็นโรงแรม 150 ห้อง และคอนโดมิเนียม มูลค่าโครงการราว 900-1,000 ล้านบาทในปี 64 ซึ่งเตรียมยื่นขออนุญาตสิ่งแวดล้อมในช่วงไตรมาส 1/64 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 3/64 โดยในส่วนของคอนโดมิเนียมคาดว่าจะเริ่มเปิดขายในช่วงปลายปี 64
ด้านธุรกิจร้านอาหารของหวานและเครื่องดื่มของบริษัทได้เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังจากคลายล็อกดาวน์เป็นต้นมา โดยเฉพาะร้าน Gram และ Pablo ที่ยอดขายกลับมาดีขึ้น และมีเงินสดกลับมาเป็นบวก โดยปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 13-14 สาขา และการขยายสาขาของบริษัทได้ปรับรูปแบบมาเป็นแบบ Pop up โดยเฉพาะร้าน Gram ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ในหลายพื้นที่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 ธ.ค. 63)
Tags: VRANDA, คอนโดมิเนียม, วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์, วีรันดา รีสอร์ท, โรงแรม