นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS ) ครั้งที่ 9 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลกับผู้นำประเทศสมาชิกอีก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และเลขาธิการอาเซียนว่า นายกรัฐมนตรี ได้เสนอความร่วมมือใน 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก “การพัฒนาความเชื่อมโยงในทุกมิติ” ทั้งด้าน hardware software และ digital ที่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในในระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนข้ามพรมแดน การเร่งปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ Micro SMEs เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ สร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างกัน
สำหรับการขับเคลื่อนแผนแม่บท ACMECS ในระยะต่อไป ต้องยกระดับความร่วมมือด้านสาธารณสุขให้สูง และยั่งยืนมากขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งที่ประชุมว่า ไทยได้ลงนามกับบริษัทแอสทราเซนเนกาเพื่อจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 คาดว่าจะได้รับอนุญาตให้ใช้และผลิตได้ในช่วงกลางปี 2564 และไทยพร้อมสนับสนุนให้ยาและวัคซีนดังกล่าวเป็นสินค้าสาธารณะเพื่อให้ประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ในราคาที่สมเหตุสมผล
ประเด็นที่สอง “การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS” เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม และตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของอนุภูมิภาค โดยขอความร่วมมือให้แต่ละประเทศเร่งดำเนินกระบวนการภายในให้แล้วเสร็จ และยืนยันคำมั่นที่จะสนับสนุนเงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่กองทุน เพื่อใช้ขับเคลื่อนโครงการที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและต่ออนุภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการ และประสานการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นที่สาม “การจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS” ต้องมีกลไกกลางเพื่อทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก ทั้งในกลุ่ม ACMECS เอง และระหว่าง ACMECS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณสำคัญให้ประชาคมโลกได้รับทราบว่า ในวันที่โลกเผชิญกับความท้าทายที่ยากจะควบคุม ACMECS พร้อมที่จะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างแข็งขัน มีบทบาทที่สร้างสรรค์ และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ
นายอนุชา กล่าวว่า การประชุม ACMECS ครั้งที่ 9 เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ 3 สาขาหลักของแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) (2) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies) และ (3) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS) นอกจากนี้ ยังมีการติดตามความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS และการมีปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ซึ่งหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มแรก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย และในปีนี้ นิวซีแลนด์และอิสราเอลก็จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มที่สอง
ผู้นำสมาชิก ACMECS ยังเห็นพ้องกับหลักการใหม่ที่ไทยเสนอเรื่อง “อนุภูมิภาคที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้” ให้เป็นอีกหนึ่งสาขาความร่วมมือภายใต้แผนแม่บท ACMECS เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงภาพลักษณ์ของอนุภูมิภาค และส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และเต็มไปด้วยโอกาสที่หุ้นส่วนภายนอกจะเข้ามาร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้รับรอง “ปฏิญญาพนมเปญ” ซึ่งให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมยุคหลังโควิด-19 เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตในอนาคตและความท้าทายรูปแบบใหม่ต่างๆ การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเน้นย้ำการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในการปิดประชุม นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้ส่งมอบตำแหน่งประธานให้แก่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวในฐานะประธานวาระต่อไป (วาระปี 2564-2566)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 63)
Tags: ACMECS, ประชุมทางไกล, สาธารณสุข, อนุชา บูรพชัยศรี