น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2565) ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
โดยสำนักงบประมาณ ได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2565 โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. หลักการและกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2565 มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) (ยุทธศาสตร์ชาติ) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) (แผนแม่บทฯ) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯ) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2562 – 2565) (นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฯ) แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด – 19 พ.ศ. 2564 – 2565 (แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ จำนวน 4 ประเด็น ประกอบด้วย
(1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) (2) การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) (3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) (4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2565 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย (ตามข้อ 2.)
1.2 นำเป้าหมายและตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนแม่บทฯ มากำหนดไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์ในแต่ละด้าน เพื่อแสดงให้เห็นเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนในแต่ละระดับที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างเป็นรูปธรรม
1.3 นำแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ 4 ประเด็น แผนย่อยภายใต้แผนแม่บทฯ 23 แผน จำนวน 85 ประเด็น และแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) 13 ด้าน มากำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ภายใต้ยุทธศาสตร์แต่ละด้าน พร้อมทั้งนำเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนดังกล่าวมากำหนดไว้ภายใต้แต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการบรรลุในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และตัวชี้วัดที่สามารถติดตามผลได้
1.4 นำแนวทางและประเด็นการพัฒนาภายใต้แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ แผนย่อยภายใต้แผนแม่บทฯ และแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) มากำหนดเป็นนโยบายการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำโครงการรองรับประเด็นดังกล่าว และเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป
2. สำหรับโครงสร้างของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย
2.1 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (5) ยุทธศสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (6) ยุทธศาตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
2.2 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 63)
Tags: งบประมาณ, งบประมาณรายจ่าย, ยุทธศาสตร์ชาติ, ไตรศุลี ไตรสรณกุล