น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ไปแล้ว แต่ด้วยระเบียบบางประการ ทำให้การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างไม่สามารถดำเนินการได้กับเกษตรกรกลุ่มผู้ถือบัตรสีชมพู ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารแสดงการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐหรือยินยอมให้ใช้ทำประโยชน์ทางการเกษตร จำนวน 4 แสนกว่าราย
ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความแน่นอนในเรื่องของรายได้ แม้ในยามที่ราคายางตกต่ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ครม.จึงมีมติอนุมัติใน 2 เรื่องสำคัญ ดังนี้
- อนุมัติให้เกษตรกรที่แจ้งพื้นที่ปลูกยาง ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ยังไม่มีเอกสารแสดงการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐหรือยินยอมให้ใช้ทำประโยชน์ทางการเกษตร ได้รับความช่วยเหลือในการประกันรายได้ ตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2
- อนุมัติให้ปรับแก้วิธีการกำหนดราคากลางอ้างอิง เป็นประกาศทุก 1 เดือน จากเดิมประกาศทุก 2 เดือน ( 2 เดือน/1 ครั้ง) โดยใช้ราคาอ้างอิงเฉลี่ยของแต่ละเดือนที่ชดเชย นับตั้งแต่เดือนพ.ย.63 เป็นต้นไป พร้อมทั้งปรับแก้คำนิยาม ราคากลางอ้างอิงการขาย หมายถึง ราคาที่คณะทำงานกำหนดราคาอ้างอิงประกาศทุก 1 เดือน (บาท/กิโลกรัม) โดยพิจารณาจากราคาตลาดกลางยางพารา SICOM, TOCOM, เซี่ยงไฮ้ และปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาที่เป็นปัจจุบันให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์แก่ชาวสวนยางอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะเริ่มจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างงวดแรก นับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ให้แก่เกษตรกรผู้มีสิทธิทุกกลุ่ม ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 รวมทั้งสิ้น 1.82 ล้านราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 63)
Tags: ครม., ธ.ก.ส., ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, รัชดา ธนาดิเรก, ราคายาง, เกษตรกร, เกษตรกรชาวสวนยาง, เงินชดเชย, โครงการประกันรายได้