นายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) คาดแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/63 ฟื้นตัวจากรับรู้รายได้จากการเจรจาการขายทรัพย์ NPL ขนาดกลาง 2 แปลงรวมมูลค่า 550 ล้านบาท และ NPA ขนาดกลางมูลค่า 150 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้ทั้งหมดในไตรมาสนี้
พร้อมกันนั้นยังมีการขาย NPA ที่เป็นทรัพย์ขนาดใหญ่มูลค่า 900 ล้านบาท ที่จะทยอยจ่ายเป็น 2 งวด โดยงวดแรกมีมูลค่า 450 ล้านบาทจะรับรู้ในไตรมาสนี้เช่นกัน
ประกอบกับ บริษัทอยู่ระหว่างการคัดทรัพย์ NPL ที่มีหลักประกันราว 6 รายการ มูลค่าหนี้รวม 780 ล้านบาท ออกมาเปิดประมูลขายในช่วง 1-2 วันนี้ คาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ทั้งหมดภายในไตรมาส 4/63 กำหนดชำระภายในวันที่ 25 ธ.ค.นี้
“สาเหตุที่มีคัด NPL เพราะรับมือโควิด และวางยุทธศาสตร์ เร่งเวลาเรียกเก็บให้เร็วขึ้น เนื่องจากโควิด เรามีการบริหารสถานการณ์ การใช้กลยุทธ์ NPL ที่มีหลักประกัน ทำให้เราได้เงินกลับมาเร็วขึ้น อาจนำ NPL ยุ่งยากในการบริหารจัดการปล่อยขายเร็วขึ้น เราจะได้ทุ่มเวลาให้กับ NPL ที่เป็น Quick Win”
นายรฐนนท์ กล่าว
ส่วนผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (DTA) จำนวน 4,950 ล้านบาทเป็ที่ชัดเจนแล้วว่าจะไม่บันทึกกลับเข้ามาเป็นกำไรพิเศษในงบกำไรขาดทุนในไตรมาสนี้ เนื่องจากผู้สอบบัญชีเห็นว่า DTA ที่เกิดขึ้นเป็นรายการในอดีตจึงน่าจะเหมาะสมที่จะบันทึกเป็นกำไรสะสม (ในงบดุล) แทน
นายรฐนนท์ กล่าวอีกว่า ในปี 64 ฝ่ายบริหารจะคัดทรัพย์ NPL ที่มีหลักประกันเพื่อขออนุมัติขายล็อตที่ 2 ตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้าด้วย และยังให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ต่อเนื่องจากปีนี้ที่ขายทรัพย์ผ่านออนไลน์ได้กว่า 160 ยูนิต ตั้งแต่เดือน มิ.ย.63 ในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถจัดขายทรัพย์ได้ตามปกติ แต่ขณะนี้สามารุกลับมาเปิดขายผ่านบูธได้แล้วใน 2 งาน สร้างยอด Pre Booking กว่า 110 ล้านบาท และในเดือนธ.ค.นี้จะจัดอีกครั้งเพื่อเร่งผลประกอบการในชวงโค้งสุดท้าย
ขณะที่บริษัทตั้งเป้าหมายซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มอีก 1.5 -1.6 หมื่นล้านบาท เพราะเชื่อว่าสถานการณ์โควิดน่าจะนิ่งแล้ว โดยปัจจุบัน (ถึงสิ้นเดือน ต.ค.63) ธนาคารพาณิชย์นำทรัพย์ออกมาขายคิดเป็นภาระหนี้รวม 6.9 หมื่นล้านบาท และยังมี NPL ในระบบมีมากพอสมควร
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/63 บริษัทได้ซื้อหนี้ NPL เข้ามาเพิ่มเติมประมาณ 1,609 ล้านบาท และไม่ได้ซื้อ NPA เพิ่มเติมในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียสินเชื่อบ้านราว 67% ที่เหลือเป็นหนี้เสียของ SME โดยคาดว่าจะเห็นหนี้เสีย Corporate มากขึ้นในปีหน้า เพราะคาดว่า NPL ในระบบปีหน้าจะสูงขึ้นเป็น 3.4% จากที่อยู่ในระดับ 3.18% ในไตรมาส 3/63 ขณะที่ซัพพลาย NPA จะมีมากขึ้นด้วย
บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะหาพันธมิตรเพื่อร่วมกันนำทรัพย์มาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ประจำและพันธมิตรที่ร่วมกันสร้างรายได้ใหม่เพิ่มขึ้นอีก หลังจากปีนี้จับมือ ช้อปปี้ ขาย NPA ผ่านออนไลน์ ซึ่งในปีหน้าจะมีการเจรจากับพันธมิตรหลายราย รวมถึงพันธมิตรที่ให้สินเชื่อลูกค้าที่ซื้อ NPA สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ทันที
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (8 ธ.ค. 63)
Tags: BAM, NPA, NPL, บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์, ผลประกอบการ, รฐนนท์ ฟูเกียรติ