วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศ ที่ถือหุ้นสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2563
ผลการจัดอันดับในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ปรากฏว่า เศรษฐีหุ้นไทยปี 2563 ยังคงเป็นของนายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดรวม 115,290 ล้านบาท รวยลดลง 5,670 ล้านบาท หรือ 4.69% ซึ่งนายสารัชถ์ เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ GULF ในสัดส่วน 35.44%
ย้อนไปเมื่อปี 2562 ที่นายสารัชถ์ ได้ก้าวเข้ามาขึ้นเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยเป็นปีแรก ขณะนั้นมูลค่าของหุ้น GULF ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ 160 บาท (ณ 30 กันยายน 2562 ราคาพาร์อยู่ที่ 5 บาท) เพิ่มขึ้นถึง 83.75 บาท หรือ 109.84% จากราคาเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) ที่ 45.00 บาทต่อหุ้นเมื่อปี 2561 แต่มาในปีนี้หุ้น GULF ก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากโดวิด-19 ที่ฉุดให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างหนัก โดยราคาหุ้น GULF ตกลงมาอยู่ที่ 30.50 บาท ลดลงไป 4.69% (ณ 30 กันยายน 2563 ราคาพาร์ปรับเป็น 1 บาท) ความมั่งคั่งของนายสารัชถ์ในปีนี้ จึงลดลงไปกว่า 5,600 ล้านบาท
เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือหมอเสริฐ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ-นนทเวช และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 50,079.31 ล้านบาท ซึ่งหุ้นที่หมอเสริฐถือครองทั้ง บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) บมจ.โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) นั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่ต้องหยุดชะงักไปจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลก็ราคาทรุดลงจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่หดหายไป ส่งผลให้ปีนี้หมอเสริฐรวยลดลง 16,031.33 ล้านบาท หรือ 24.25%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ในปีนี้ ยังคงเป็นของนายนิติ โอสถานุเคราะห์ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 48,181.64 ล้านบาท ลดลง 431.68 ล้านบาท หรือ 0.89% สำหรับพอร์ตการลงทุนของนายนิติในปีนี้ ประกอบด้วยหุ้นทั้งหมด 12 บริษัท โดยลงทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้วใน 10 บริษัท และมีหุ้นใหม่ในพอร์ตอีก 2 บริษัทที่ลงทุนเพิ่ม
เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัททีโอเอ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA ขยับมาอยู่ที่ 4 จากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และ บมจ. ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) (TOA) รวมมูลค่า 41,213.15 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 157.85 ล้านบาท หรือ 0.38%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ได้แก่ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี หลังจากก้าวเข้ามาติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 23 เมื่อปีที่แล้ว รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครองทั้งสิ้น 38,178.70 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 27,848.13 ล้านบาท หรือ 269.57% จากการนำ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ซึ่งเป็น Holding Company ที่ถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ “ทีซีซี กรุ๊ป” ทั้งกลุ่มธุรกิจโรงแรม/การบริการ และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2562
นอกจากนี้ ยังถือหุ้น บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) ซึ่งเป็น Holding Company ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี ลงทุนในธุรกิจประกันชีวิต ประกันภัย และลิสซิ่งอีกด้วย
เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 และอันดับ 7 ได้แก่ 2 เศรษฐีหุ้นเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ เมืองไทยลิสซิ่ง โดยนางดาวนภา เพ็ชรอำไพ ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 6 จากอันดับ 7 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้นมูลค่า 35,460 ล้านบาท ลดลง 5,580 ล้านบาท หรือ 13.60% ส่วนนายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ขึ้นจากอันดับ 8 มาอยู่อันดับ 7 โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 35,277.91 ล้านบาท ลดลง 5,563.30 ล้านบาท หรือ 13.62%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 8 ได้แก่ นายสมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หล่นจากอันดับ 5 เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 34,412.43 ล้านบาท ลดลง 7,671.82 ล้านบาท หรือ 18.23%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ขยับขึ้นเช่นเดียวกับเจ้าสัวเจริญ โดยขึ้นจากอันดับ 23 เมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 28,728.70 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 18,398.13 ล้านบาท หรือ 178.09%
เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่ นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม กลุ่มธุรกิจสัญชาติเยอรมันยักษ์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าแห่งธุรกิจพลังงาน, โรงไฟฟ้า, อุปกรณ์การแพทย์, เครื่องปรับอากาศ, คมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ โดยขยับขึ้นจากอันดับ 11 เมื่อปีที่แล้ว จากการถือครองหุ้นมูลค่ารวม 26,798.95 ล้านบาท ลดลง 632.63 ล้านบาท หรือ 2.31%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวทรุดตัวลงอย่างหนัก ส่งผลมายังตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่ใช้คำนวณมูลค่าความมั่งคั่งของเศรษฐีหุ้นไทยปี 2563 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 1,237.04 จากปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 1,637.22 ลดลงถึง 400.18 จุด คิดเป็น 32.35% ทำให้มูลค่าความมั่งคั่งของเศรษฐีหุ้นไทยในปี 2563 ลดลงถึง 140,796 ล้านบาท หรือ 7.09%
อย่างไรก็ตาม หลังจากปัจจัยลบต่างๆ ได้คลายตัวลง ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดจากผลกระทบของโควิด-19 ไปแล้ว และเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ รวมถึงผลการทดลองวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ที่ได้ผลดีและจะมีการนำมาใช้ได้ในปลายปีนี้ ทำให้มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีปรับตัวขึ้นทะลุ 1,400 จุด ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
หากดัชนีหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามาฉุดรั้ง ความมั่งคั่งในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยปีหน้าคงฟื้นกลับมาได้อีกอย่างแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (8 ธ.ค. 63)
Tags: AWC, BA, EA, GULF, MTC, STARK, TOA, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, ดาวนภา เพ็ชรอำไพ, ทีซีซี กรุ๊ป, ทีโอเอ เพ้นท์, นิติ โอสถานุเคราะห์, บางกอกแอร์เวย์ส, ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ, พลังงานบริสุทธิ์, วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ, วรรณา สิริวัฒนภักดี, วารสารการเงินธนาคาร, สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น, สมโภชน์ อาหุนัย, สารัชถ์ รัตนาวะดี, หุ้นไทย, ฮาราลด์ ลิงค์, เจริญ สิริวัฒนภักดี, เมืองไทยแคปปิตอล, เศรษฐีหุ้นไทย, แอสเสท เวิรด์ คอร์ป