สธ.เตรียมวิจัย’ฟ้าทะลายโจร’ใช้รักษาโควิด-19

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมฯ อยู่ระหว่างศึกษาการนำสมุนไพรไทย”ฟ้าทะลายโจร” มาใช้เพื่อยับยั้งไวรัสโควิด-19 โดยในวันอังคารหน้า (25 ก.พ.) จะมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม ในการศึกษาวิจัย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะได้คำตอบ

“จะทดลองในอาสาสมัครคนไทยที่สุขภาพดี 10 รายให้ทานยาฟ้าทะลายโจรในปริมาณ (โดส) ที่ถูกต้องเหมาะสมที่กรมฯ จะกำหนดมา และจะมีการเจาะเลือดตลอด เอาซีรั่มของคนที่ได้รับยาไปตรวจไปใส่ในเชื้อไวรัส ว่าสามารถทำให้ไวรัสตายได้มั้ย ยับยั้งการเจริญเติบโตได้หรือไม่ ขอเวลาในการดำเนินการ”

นพ.ปราโมทย์ กล่าว

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีข้อมูลว่า”ฟ้าทะลายโจร”สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านไวรัสโดยเฉพาะไวรัสการติดเชื้อทางเดินหายใจมากพอสมควร อย่างตอนช่วงโรคซาร์ระบาดเคยศึกษาพรีคลีนิคไว้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถฆ่าไวรัสสายพันธุ์ซาร์ได้ และตอนนี้ทราบรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ว่าต่างกับซาร์ ดังนั้นต้องมีการศึกษาวิจัยยืนยันว่า ฟ้าทะลายโจร สามารถยับยั้งไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 รายที่แรกและรายที่สองของประเทศไทยไปถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 นำมาพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยเทคนิค Real time RT –PCR พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งแบ่งปันเชื้อให้องค์การอนามัยโลกนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการให้พร้อมรับมือสถานการณ์ระบาดฉุกเฉิน ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเริ่มที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในขยายไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่ 5 ม.ค. – 20 ก.พ. 63 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จากตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ รวม 1,489 ตัวอย่าง

พร้อมกันนั้น นักวิทยาศาสตร์ไทยจากหลายหน่วยงานได้ร่วมกันทำการทดลองทางห้องปฏิบัติการ ค้นพบว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรของประเทศไทยสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้ในหลอดทดลอง ซึ่งจะได้นำมาพัฒนาต่อยอดกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากได้ผลเป็นที่น่าพอใจก็จะทำการขยายผลต่อไป

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า มีผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านได้เพิ่มอีก 2 ราย เป็นชายชาวจีน อายุ 56 ปี และอายุ 34 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร เหลือผู้ป่วยที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล 16 คน รวมมีผู้ป่วยยืนยันรักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 19 ราย รวมจำนวนผู้ป่วยสะสม 35 ราย

ในส่วนผู้ป่วยใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด อาการคงที่ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อแล้ว ส่วนรายที่เป็นวัณโรคร่วมด้วย ยังตรวจพบเชื้ออยู่ อาการคงที่ และยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจทั้ง 2 ราย ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง

สำหรับกรณีที่มีรายงานข่าวในต่างประเทศระบุว่าพบผู้ป่วยที่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่นเป็นหลักร้อยราย (Super Spreader) นั้น จะเป็นผู้ที่มีเชื้อในร่างกายจำนวนมากสามารถแพร่ให้ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ ลักษณะดังกล่าวนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคที่เข้มแข็ง ทำให้สามารถตรวจจับผู้อาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและนำมาแยกเก็บตัวไว้ในห้องแยกได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ไปแพร่สู่ผู้อื่นได้

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถบังคับผู้ที่สงสัยว่าป่วยนำเข้ามาสู่ระบบการรักษาได้ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจและให้ความร่วมมือกับทางราชการเพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ ส่วนการติดตามผู้โดยสารและลูกเรือชาวไทยบนเรือสำราญไดมอนด์ ปริ้นเซส 3 ราย ทั้งหมดตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และออกจากเรือเรียบร้อยแล้ว

ส่วนจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-20 ก.พ.63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ทั้งหมด 1,151 ราย คัดกรองจากสนามบิน 58 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,093 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 941 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 210 ราย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวังที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการขยายวงเฝ้าระวังในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี รวมถึงมาตรการคัดกรองเฝ้าระวังจากประเทศที่มีการระบาดก็ยังดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยขณะนี้ประกาศเฝ้าระวังในเกาหลีใต้เนื่องจากมีผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top