น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ย.63 สนค. ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างในทุกอำเภอ (884 อำเภอ/เขต) จำนวน 8,072 คน พบว่า โครงการคนละครึ่งได้รับความนิยมเข้าร่วมมากที่สุด มีผู้ตอบมากถึง 50.18% เข้าร่วมโครงการ ตามด้วย ชิม ช็อป ใช้ 45.30%, เราเที่ยวด้วยกัน 21.06% และช็อปดีมีคืน 7.70%
สำหรับสาเหตุที่เข้าร่วมโครงการ ผู้ตอบมากถึง 39.63% เห็นว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ อีก 22.81% เห็นว่าเป็นโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการ, 22.66% เห็นว่ากระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง และอีก 14.905 เห็นว่าใช้สะดวก โดยโครงการที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง สูงถึง 47.95%, ชิม ช้อป ใช้ 25.82%, เพิ่มวันหยุดยาว 19.04%, เราเที่ยวด้วยกัน 4.70% และช้อปดีมีคืน 2.49% ขณะที่เหตุผลหลักของผู้ไม่เข้าร่วมโครงการของภาครัฐ คือ ขั้นตอนลงทะเบียน/การใช้ยุ่งยาก รองลงมา ลงทะเบียนไม่ทันตามกำหนด และเหตุผลอื่นๆ เช่น ไม่จูงใจ, อุปกรณ์ไม่เอื้ออำนวยในการใช้งาน, ไม่ทราบ/ไม่เข้าใจมาตรการ, ไม่อยากเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น
“สนค. คาดว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐดังกล่าว จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังการซื้อ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีรายได้ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและใช้ระบบดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าระบบมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาครัฐเข้าถึงผู้ค้าและผู้บริโภค เพื่อรับทราบความต้องการและเสนอมาตรการให้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่า โครงการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิดต่อไป”
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังมีมาตรการและนโยบายอื่นๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพของภาคประชาชน เช่น โครงการพาณิชย์ลดราคา โครงการธงฟ้า เป็นต้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น จัดงานขายสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคทั่วประเทศว่า ผู้บริโภคยังคงซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่ามียอดใช้จ่ายทางออนไลน์ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 52,000 ล้านบาท หรือประมาณ 7.80% ของยอดการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของประเทศ โดยนิยมซื้อผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มากที่สุด เช่น Lazada, Shopee มากที่สุด รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โลตัส/บิ๊กซี/วัตสัน/โรบินสัน) และ Facebook สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือน ส่วนใหญ่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000 บาท รองลงมา คือ 1,001 – 3,000 บาท และมากกว่า 3,000 บาท
สำหรับสินค้าและบริการที่นิยมซื้อผ่านออนไลน์มากที่สุดได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า, อาหารและเครื่องดื่ม , ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้าน และสุขภาพและความงาม/ของใช้ส่วนบุคคล โดยเหตุผลหลักในการซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องความสะดวก รองลงมา คือ ราคาถูก และมีให้เลือกหลากหลาย
“เป็นที่น่าสังเกตว่า การซื้อสินค้าออนไลน์นับวันจะยิ่งได้รับความนิยมและทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญได้ ซึ่ง สนค. อยู่ระหว่างการศึกษาราคาสินค้าและบริการออนไลน์ เพื่อกำหนดวิธีการจัดทำเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่โดยเร็ว”
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 63)
Tags: คนละครึ่ง, พิมพ์ชนก วอนขอพร, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, สนค., สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, เศรษฐกิจไทย