นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า ได้เร่งรัดสร้างความเข้าใจและดำเนินการสำรวจความต้องการของคนในชุมชน เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ที่ยังมีความล่าช้า โดยให้สำรวจประชาชน และออกแบบ ให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 เพื่อให้ทำการประมูลและเริ่มก่อสร้างในปี 2566
สำหรับโครงการ Smart Community มีแผนดำเนินการปี 2562-2581 งบประมาณ 9,856.666 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 เฟส โดยเฟส 1 จะเป็นการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและอาคารบริวาร วงเงิน 2,351.050 ล้านบาท โดยการออกแบบรายละเอียด จะเสร็จในเดือนส.ค. 2564 ในปี 2565 จะมีการเสนออนุมัติโครงการ ประมูลหาผู้ก่อสร้างและเริ่มตอกเข็มต้นปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2568 และจะเริ่มก่อสร้างเฟส 3 เริ่มก่อสร้างปี2571 และเฟส 4 เริ่มก่อสร้างปี 2574 โดยโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2578
นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายการบริหารงานท่าเรือ ในการจัดการระบบต่างๆ ในปี 2564 เช่น
- พัฒนาให้เป็น city port โดยมีท่าเรือแหลมฉบังเป็น Gateway รองรับเรือขนาดใหญ่ และให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์สนับสนุนการขนส่งสินค้าในรูปแบบ Shift Mode
- เร่งพัฒนาให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กระจายสินค้าของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดต้นทุนโลจิสติกส์
- นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาการบริหารจัดการ ที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำกับการขนส่ง รูปแบบอื่นๆ อย่างไร้รอยต่อ
- เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนภาคเอกชน เชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ให้มากยิ่งขึ้น
- ปรับปรุงลานตู้สินค้าเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติเพื่อลดมลพิษ (Green Port) เปลี่ยนเครื่องมือทุ่นแรงเป็น ระบบไฟฟ้า มุ่งสู่การเป็น Smart Port ในอนาคต
- เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางน้ำและทางราง (Shift Mode) เพิ่มจำนวนรางรถไฟที่เข้ามาในท่าเรือกรุงเทพ บูรณาการร่วมกับ รฟท. เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ลดการขนส่งทางถนน
- เร่งรัดโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ให้เป็นไปตามแผน
- พัฒนาระบบ e-Payment ชำระค่าธรรมเนียมด้วยระบบออนไลน์
นอกจากนี้ได้สั่งการให้กทท. เคร่งครัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด- 19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าเรือเชียงแสนและท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนอง เนื่องจากสถานการณ์ตามแนวชายแดนกลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้ง รวมถึง เข้มงวดมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ทำให้ฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินค่ามาตรฐานและให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
และให้เร่งแผนเพิ่มรายได้ ท่าเรือภูมิภาค เนื่องจากพบว่าผลประกอบการท่าเรือเชียงแสนและเชียงของยังขาดทุน โดยได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน ฯ และอัตราค่าเช่าสินทรัพย์ที่เหมาะสม รวมถึงหานักลงทุนเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ว่างในท่าเรือ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 ธ.ค. 63)
Tags: กระทรวงคมนาคม, การท่าเรือแห่งประเทศไทย, ชุมชนคลองเตย, ท่าเรือ, ที่อยู่อาศัย, พัฒนาพื้นที่, อธิรัฐ รัตนเศรษฐ