บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) ว่าที่หุ้นน้องใหม่ดีเดย์ประกาศความพร้อมเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรกในวันที่ 8 ธ.ค.63 สานเป้าหมายสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจขยายพอร์ตสินเชื่อและจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3 ปีหรือภายในปี 66
SAK กำหนดราคาเสนอขาย IPO หุ้นละ 3.70 บาท โดยมี บล.ธนชาต เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ในครั้งนี้ และมีจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมดไม่เกิน 546,000,000 หุ้น คิดเป็น 26.05 % ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น
เชื่อ IPO 3.70 บ.ที่ P/E 13-14 เท่า ไม่แพงหากเทียบกลุ่มไฟแนนซ์
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ SAK เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ราคาหุ้น IPO 3.70 บาทที่กำหนดให้กับผู้ลงทุนจองซื้อนั้นมาจากผลการสำรวจความต้องการซื้อ (Book Building) ของนักลงทุนสถาบันที่จองซื้อหุ้นมากกว่า 8 เท่าของจำนวนหุ้นที่จัดสรรให้ บริษัทจึงมองว่าเป็นระดับราคา IPO ค่อนข้างสมเหตุสมผล มีส่วนลดจากราคาประเมินมูลค่าที่เหมาะสมคิดเป็น P/E อยู่ที่ 13-14 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย P/E ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่มี P/E กว่า 20 เท่า
“ส่วนตัวมองว่าการกำหนดราคา IPO อยู่ที่ 3.70 บาทเป็นหุ้นที่ไม่ได้มีราคาแพง เพราะหุ้นของบริษัทได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนสถาบันมียอดจองเข้ามากว่า 8 เท่า และอยากให้ติดตามเราว่าจะเติบโตได้ตามที่เราให้คำมั่นสัญญาหรือไม่ เช่น แผนขยายสาขาเฉลี่ยปีละ 200 แห่ง พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโตเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทตามแผนระยะเวลา 3 ปี และหนี้เสียต้องควบคุมไม่เกิน 2% จะเป็นตัวแปรผลักดันกำไรของบริษัทเติบโตในอนาคต ซึ่งเราสัญญาแล้วและเราก็มีความเชื่อมั่นว่าต้องทำได้”
นายศิวพงศ์ กล่าว
เปิดพอร์ตสินเชื่อประสบการณ์กว่า 25 ปี
นายศิวพงศ์ กล่าวต่อว่า บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยฐานรากระดับภูมิภาคภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจมานานกว่า 25 ปีเทียบเท่าบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม
ปัจจุบันบริษัทให้บริการสินเชื่อให้กับประชาชนในท้องถิ่นด้วยจำนวนฐานลูกค้าทั้งสิ้นกว่า 240,000 สัญญา จากฐานลูกค้าที่เคยใช้บริการกว่า 500,000 ราย มีจำนวนสาขา 519 แห่งกระจายครอบคลุมโซนจังหวัดภาคเหนือเป็นหลัก รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์
สำหรับความโดดเด่นของบริษัทที่สามารถชิงความได้เปรียบทางการแข่งขันคือประสิทธิภาพการให้บริการ แม้ว่าประชาชนจะมีทางเลือกจากผู้ให้บริการจำนวนมาก แต่ลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่ก็ยังใช้บริการมาต่อเนื่อง โดยโครงสร้างผลิตภัณฑ์สินเชื่อของบริษัทมีด้วยกัน 4 ประเภทหลัก ประกอบด้วย สินเชื่อทะเบียนรถ (Vehicle Title Loan) เป็นสัดส่วน 87% ,สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) เป็นสัดส่วน 9% ส่วนที่เหลือเป็นเป็นประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อรถแลกเงิน (Hire-Purchase and Car for Cash)
ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 3/63 อยู่ที่กว่า 6.3 พันล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน 87% เป็นประเภทรถกะบะ ,รถจักรยานยนต์ ,รถใช้เพื่อการเกษตร เป็นต้น และอีก 13% เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน
“ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมลิสซิ่งมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เพราะมีผู้ให้บริการตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงรายเล็ก แต่เริ่มเห็นสัญญาณดุเดือดมากขึ้นหลังจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 รายที่เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนระดมทุนขยายสาขาเป็นจำนวนมาก
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือการออกใบอนุญาตประกอบ Nano Finance และสินเชื่อทะเบียนรถ ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องเร่งปรับตัวจากการใช้มาตรฐานกำกับดูแลที่สูงขึ้น เน้นความเป็นธรรมมีความโปร่งใสกับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ นับว่าเป็นข้อดีของผู้ประกอบการที่ปรับตัวและมีความพร้อมเพราะช่วยเพิ่มความได้เปรียบเชิงการแข่งขันแตกต่างกับผู้เล่นรายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะได้รับผลกระทบไป”
นายศิวพงศ์ กล่าว
NIM สูงมุ่งเน้นศักยภาพทำกำไร-คุม NPL ต่ำ 2%
นายศิวพงศ์ กล่าวว่า ด้านศักยภาพทำกำไรของบริษัทสะท้อนผ่านตัวเลขของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่เป็นรายได้จากส่วนต่างระหว่างต้นทุนดอกเบี้ยและดอกเบี้ยสินเชื่อ โดยปกติจะอยู่ในระดับเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% สามารถเทียบเคียงได้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
“กลยุทธ์การรักษา NIM ทรงตัวสูงมากกว่า 20% คือการควบคุมไม่ให้เกิดหนี้เสียจนกระทบต่อความสามารถทำกำไร ยกตัวอย่างการรักษาคุณภาพสินเชื่อ Nano Finance ที่วันนี้แบงก์ชาติรายงานพบว่ามีหนี้เสียมากกว่า 10% แต่ของบริษัทอยู่ที่ 4% เท่านั้น เป็นหนึ่งตัวแปรสะท้อนว่าการดูแลหนี้เสียของบริษัทอยู่ในระดับที่ดีกว่าอุตสาหกรรม”
กลยุทธ์การควบคุมหนี้เสียของบริษัท คือการคัดกรองคุณภาพของลูกค้าตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาใช้บริการ เพราะบริษัทยึดหลักว่าถ้าให้เงินง่ายก็จะเสียเงินง่ายเช่นกัน
แม้ว่าในช่วงก่อนหน้านี้ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ประเทศตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาล ส่งผลให้การติดตามหนี้ค่อนข้างลำบาก ผลักดันตัวเลขหนี้เสียเร่งขึ้นสูงสุดมาอยู่ที่ 3.30% แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นประกอบกับเข้าสู่ฤดูฝนทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นระดับหนี้เสียเริ่มลดลงมาแถวประมาณ 2% ต้นๆ
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นภาวะปกติบริษัทจะควบคุมหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% เป็นตัวเลขที่บริษัทพยายามรักษามาโดยตลอดในการดำเนินงานทุกๆปี
ระดมทุน SET ปักธง 3 ปีสานเป้าโตเท่าตัว
SAK มีแผนนำเงินระดมทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ขยายธุรกิจให้เติบโตมากกว่าเท่าตัวตามแผน 3 ปีข้างหน้า (64-66) ประกอบด้วย แผนขยายสาขาเพิ่มเป็น 1,119 สาขา หรือเพิ่มเฉลี่ยปีละ 200 สาขา จากปัจจุบันที่มีจำนวน 519 สาขาครอบคุลมเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 38 จังหวัด พร้อมกับวางเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทภายในปี 66 จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 6.3 พันล้านบาท
อีกส่วนที่สำคัญ คือ การนำเงินไปพัฒนาเทคโนโลยีช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและยกระดับการให้บริการปล่อยสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว โดยช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึกแบบเรียลไทม์ผ่าน Mobile Application และใช้เป็นเครื่องมือควบคุมความเสี่ยงเรื่องคุณภาพของสินเชื่ออีกด้วย
“ฐานข้อมูลของลูกค้าเป็นหนึ่งในตัวแปรที่บริษัทจะนำมาอนุมัติสินเชื่อ ประเมินโอกาสเกิดเป็นหนี้เสีย แต่เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดธุรกิจแล้วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านบริการอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้าได้รวดเร็วมากขึ้น
ส่วนแผนขยายสาขานั้นผู้บริหารทุกคนมีความเชื่อมั่นว่าสามารถสร้างการเติบโตด้วยการขยายสาขา เพราะภายในองค์กรเรามีดัชนีชี้วัดอยู่แล้วว่าต้องใช้ระยะเวลาเปิดสาขาเท่าใดเพื่อที่จะคุ้มค่าต่อผลตอบแทน และเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้กับบริษัท ด้วยประสบการณ์ทำงานของตัวผมเองที่อยู่กับบริษัทกว่า 8 ปีก็ทยอยเปิดสาขามาแล้วกว่า 400 สาขามีการปิดแค่ 2 สาขาที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนห่างไกลต่อการบริหารจัดการ เป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่าแต่ละสาขาของบริษัทที่เปิดบริการช่วยสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี เรียกว่าเปิดแล้วไม่มีปิด”
สำหรับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 60-62) บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้จากดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและบริการ เฉลี่ย 31.6% ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ โดยปี 60 มีรายได้ 928.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 290.1 ล้านบาท, ปี 61 มีรายได้ 1,256.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 398.5 ล้านบาท และปี 62 มีรายได้ 1,604.60 ล้านบาท กำไรสุทธิ 345.90 ล้านบาท
ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 63 มีรายได้ 1,172.90 ล้านบาท กำไรสุทธิ 408.80 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,172.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 264.0 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 ธ.ค. 63)
Tags: IPO, SAK, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ลิสซิ่ง, ศักดิ์สยามลิสซิ่ง, ศิวพงศ์ บุญสาลี, หุ้นไทย