นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 10 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-ตุลาคม) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 13.0 โดยกลุ่มเบนซิน ลดลงร้อยละ 2.4 กลุ่มดีเซล ลดลงร้อยละ 3.6 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลง ร้อยละ 60.0 น้ำมันเตา ลดลงร้อยละ 15.5 ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลงร้อยละ 14.6 และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 29.5 โดยสาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์โควิด-19
อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.3 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 2.4 โดยการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8 ล้านลิตร/วัน หรือร้อยละ 17.6 และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ปริมาณการใช้ลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 30.5 ล้านลิตร/วัน หรือร้อยละ 1.9 เมื่อพิจารณาแยกชนิดน้ำมัน พบว่า แก๊สโซฮอล์ อี85 มีปริมาณการใช้ลดลงมากที่สุดโดยลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9 ล้านลิตร/วัน หรือร้อยละ 29.2 รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.2 ล้านลิตร/วัน หรือร้อยละ 14.1 และแก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 6.4 ล้านลิตร/วัน หรือร้อยละ 0.3 ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 15.0 ล้านลิตร/วัน หรือร้อยละ 8.3
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 64.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 3.6 โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้ลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 44.0 ล้านลิตร/วัน หรือร้อยละ 27.0 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี10) มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 14.7 ล้านลิตร/วัน (เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.9 ล้านลิตร/วัน โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดามีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐ
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น ร้อยละ 60.0 เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐยังคงมีมาตรการควบคุมและอนุญาตให้บุคคลเฉพาะกลุ่มเดินทางเข้าออกประเทศ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไม่มากนัก ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าความต้องการใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยการท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้นตัวจากช่วงวันหยุดยาวที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 15.3 ล้านกิโลกรัม (กก.)/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 14.6 โดยปริมาณการใช้ในภาคขนส่งลดลงมากที่สุด โดยมีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.0 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 27.7 รองลงมาเป็นภาคปิโตรเคมี ซึ่งมีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.1 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 18.5 ถัดมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 8.8และภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดโดยการใช้อยู่ที่ 5.5 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 5.2
การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.8 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 29.5 สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงลดลง
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 886,172 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 8.0 โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 850,397 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 2.1 คิดเป็นมูลค่า 37,741 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นผลจากการลดลงทั้งปริมาณนำเข้า และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และสำหรับน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG โดยมีปริมาณนำเข้าลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 35,775 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 62.0 คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวม 1,655 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและน้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 187,380 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 8,308 ล้านบาท/เดือน ลดลงร้อยละ 25.8 ซึ่งลดลงโดยเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 63)
Tags: กรมธุรกิจพลังงาน, กระตุ้นเศรษฐกิจ, ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, ดีเซล, นันธิกา ทังสุพานิช, น้ำมัน, น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์