นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เข้าให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 265 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540
เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2534 ในสภาพสังคมขณะนั้นที่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงมีการกำหนดเงื่อนไขให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านกระบวนการร่างขึ้นมาจากความเห็นของหลายฝ่าย และผ่านความเห็นชอบจากประชาชน จึงเห็นว่าการจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นจะต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีประเทศใดกำหนดให้สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราสามารถได้อยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ กมธ.เองต่างก็มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะสามารถตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
นายอุดม กล่าวว่า ส่วนตัวจึงเห็นว่าควรส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจน แต่ก็มีผู้เสนอให้ใช้แนวทางตามมาตรา 5 ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาตามประเพณีการปกครอง
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประเด็นหลักควรมองที่เนื้อหามากกว่าจะมองว่าจะเอาฉบับใหม่หรือฉบับเดิม แต่ควรมองว่าเนื้อหาตรงนี้ที่ฉบับเดิมไม่ดีแล้วควรต้องแก้ไขใหม่
ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอให้มีการทำประชามติ 2 ครั้ง คือ การทำประชามติแก้ไขมาตรา 256 ครั้งแรก และการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร.ครั้งที่ 2 นั้น จากการหารือในวันนี้ประเด็นดังกล่าวไม่เป็นที่ถกเถียงมากนัก ส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพราะยอมรับในอำนาจของประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (3 ธ.ค. 63)
Tags: การเมือง, รัฐธรรมนูญ, อุดม รัฐอมฤต, แก้ไขรัฐธรรมนูญ