นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยสถิติการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ ไม่รวมอุตสาหกรรมการเกษตร) ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.63) ไปยังประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) รวม 13 ฉบับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง มีมูลค่ารวมกว่า 12,289 ล้านเหรีญสหรัฐ คิดเป็น 70.5% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปโลก โดยขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
ตลาดคู่เอฟทีเอที่มีการส่งออกขยายตัว เช่น กัมพูชา ขยายตัว 242% สิงคโปร์ ขยายตัว 23% จีน ขยายตัว 8% ฮ่องกง ขยายตัว 22% ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ขยายตัว 11% โดยสินค้าเกษตรที่การส่งออกขยายตัว อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออก 3,618 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออก 763 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20% ปศุสัตว์อื่นๆ ส่งออก 704 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 107% ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ส่งออก 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15% สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออก 91 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 493% เป็นต้น
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทยที่มีผลใช้บังคับแล้ว ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศคู่ค้ายกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่แล้ว เอฟทีเอจึงมีส่วนสำคัญที่สร้างแต้มต่อและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก ทำให้สินค้าส่งออกไทยมีโอกาสในตลาดคู่เอฟทีเอมากขึ้น และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2562 กับปี 2535 ก่อนที่ไทยจะมีความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียน พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปตลาดโลกเติบโตขึ้นถึง 224% สอดคล้องกับสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรด้วยเอฟทีเอที่มีมูลค่าสูงหลายรายการ อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดและแปรรูป ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น
แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคตมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความพร้อมในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญเริ่มฟื้นตัว การผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ และมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง โดยเดือน ต.ค.2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอสำคัญ ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน พบว่า อินโดนีเซีย ขยายตัว 42% อินเดีย ขยายตัว 20% ออสเตรเลีย ขยายตัว 20% ญี่ปุ่น ขยายตัว 10% มาเลเซีย ขยายตัว 8% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 6% สะท้อนความต้องการสินค้าเกษตรที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวและปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น สินค้าที่เก็บรักษาได้นาน ควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อโรค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค และใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยได้รับการลดและยกเว้นภาษีนำเข้าให้เต็มที่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 ธ.ค. 63)
Tags: FTA, การค้าระหว่างประเทศ, การส่งออก, ข้อตกลงการค้าเสรี, สินค้าเกษตร, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม, เอฟทีเอ