นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับแผนลงทุน 5 ปี (ปี 64-68) รวม 23,637 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 734,845 ล้านบาท) และประมาณการอัตราการเติบโตของปริมาณการขายโดยเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ในช่วง 5 ปี ที่ประมาณ 6%
โดยแผนการลงทุนปี 64 และแผนการลงทุน 5 ปี ยังคงรักษากำลังการผลิตจากโครงการหลัก พร้อมเร่งพัฒนาโครงการ สำคัญ เพื่อเริ่มการผลิตให้ได้ตามแผนที่วางไว้ รวมถึงกิจกรรมการสำรวจเพื่อการเติบโตในระยะยาว พร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 อยู่ที่ระดับ 4,196 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 132,174 ล้านบาท) แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure : CAPEX) จำนวน 2,588 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 81,522 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure : OPEX) จำนวน 1,608 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 50,652 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนงานหลัก ดังนี้
- รักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการในประเทศมาเลเซีย และโครงการซอติก้าในประเทศเมียนมา รวมถึง เตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 1,943 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 61,204ล้านบาท)
- เพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต โดยมุ่งเน้นและผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน และเร่งการพัฒนาโครงการมาเลเซียซาราวัก เอสเค 410 บี ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้ว ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision :FID) โดยบริษัทได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนในส่วนนี้ เป็นจำนวนเงิน 493 ล้านเหรียญสหรัฐ(เทียบเท่า 15,530 ล้านบาท)
- เร่งกิจกรรมการสำรวจเพื่อค้นหาทรัพยากร รองรับการเติบโตในระยะยาว โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 152ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 4,788 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลสำหรับโครงการสำรวจในประเทศมาเลเซีย และประเทศเม็กซิโก
“ปี 64 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความต้องการใช้พลังงานและราคาน้ำมัน ที่ผ่านมา ปตท.สผ. มีการปรับตัวทั้งในส่วนของโครงสร้างองค์กรและการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุนโดยรวม เพื่อให้บริษัทมีความแข็งแกร่งพร้อมรับกับความผันผวนในปีนี้เราได้ทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีภายใต้กลยุทธ์ Execute and Expand ซึ่งจะส่งผลให้เรามีการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศและยังเติบโตได้ และด้วยโครงสร้างการเงินที่แข็งแกร่ง ประกอบกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในแต่ละปี จะสามารถรองรับแผนการลงทุนดังกล่าว รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแม้ในสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ”
นายพงศธร กล่าว
ตารางแผนการลงทุน และปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย ในช่วง 5 ปี (ปี 64-68)
ปี 2564 | ปี 2565 | ปี 2566 | ปี 2567 | ปี 2568 | ปี 2564 – 2569 | |
รายจ่ายรวม (Total Expenditure) (หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ) | 4,196 | 5,617 | 4,779 | 4,934 | 4,111 | 23,637 |
รายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) | 2,588 | 3,035 | 2,975 | 3,083 | 2,339 | 14,020 |
รายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) | 1,608 | 2,582 | 1,804 | 1,851 | 1,772 | 9,617 |
ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย (บาร์เรล/วัน) | 375,000 | 436,000 | 446,000 | 466,000 | 462,000 |
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 ธ.ค. 63)
Tags: PTTEP, น้ำมันดิบ, ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, ปิโตรเลียม, พงศธร ทวีสิน