นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการภายใต้มาตรการคู่ขนานเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนจำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการเก็บรักษาข้าวเปลือกและรักษาเสถียรภาพด้านราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายในช่วงที่ราคาตกต่ำ
ทั้งนี้มีเป้าหมายการจ่ายสินเชื่อจำนวน 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก ณ ความชื้นไม่เกิน 15% สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% ซึ่งข้าวเปลือกชนิดสีได้ต้นข้าวต่ำกว่า 20 กรัม ไม่รับเข้าร่วมโครงการ และข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกิน 0.5% (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม) กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 10,400-11,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 8,900-9,500 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 5,400 บาท/ตัน ข้าวหอมปทุม 7,300 บาท/ตัน และข้าวเหนียว 8,600 บาท/ตัน วงเงินรวม 15,284 ล้านบาท
โดยเกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่บัดนี้ถึง 28 ก.พ.64 และภาคใต้ตั้งแต่เดือน 1 มี.ค.-31 ก.ค.64 กำหนดชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับเงินกู้ โดยไม่มีอัตราดอกเบี้ย
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 เพื่อช่วยให้สถาบันเกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการช่วยดูดซับปริมาณข้าวเปลือกในตลาด โดยรวบรวมและรับซื้อข้าวจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป นำมาเก็บรักษาตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อรอการขายหรือนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจะได้รับวงเงินกู้ตามศักยภาพ แผนธุรกิจ และไม่เกินวงเงินที่นายทะเบียนกำหนด ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 ก.ย.64 กำหนดระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ตามรอบธุรกิจแต่ไม่เกิน 31 ธ.ค.64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 ธ.ค. 63)
Tags: กษาปณ์ เงินรวง, ข้าว, ข้าวเปลือก, ชาวนา, ธ.ก.ส., ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ราคาข้าว, สินเชื่อ, เกษตรกร