น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 28,711.29 ล้านบาท เป็นการเพิ่มเติมจากเดิมที่ ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 18,096.06 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี63/64 ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 46,807.35 ล้านบาท
สำหรับวงเงินเพิ่มเติมที่ ครม. อนุมัติในวันนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
- ค่าดำเนินการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาเกณฑ์อ้างอิง โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 28,078.44 ล้านบาท จากเดิม 17,676.54 ล้านบาท รวมเป็น 45,754.98 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 2.25 วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 631.76 ล้านบาท จากเดิม 397.72 ล้านบาท รวมเป็น 100 29.4 9 ล้านบาท
- ค่าบริหารจัดการ ธ.ก.ส. วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 1.09 ล้านบาท จากเดิม 21.8 ล้านบาท รวมเป็น 22.88 ล้านบาท
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 โดยจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรในงวดที่ 1 ครบถ้วนแล้ว และงวดที่ 2 บางส่วน สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 1,429,135 ครัวเรือน เป็นเงิน 15,260.55 ล้านบาท คิดเป็น 86.3% ของวงเงินงบประมาณเงินชดเชยที่ ครม. เคยอนุมัติไว้เดิม
อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามสิทธิ สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 15 – 29 พฤศจิกายน 2563 (งวดที่ 2 บางส่วน และงวดที่ 3-4) อีกจำนวน 2,905,043 ครัวเรือน เป็นเงิน 26,605.61 ล้านบาท และเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 (งวดที่ 5- 30) อีก 487,370 ครัวเรือน ผลผลิตรวม 2,894,905 ตัน คาดว่าจะใช้วงเงินงบประมาณ 3,888.82 ล้านบาท ซึ่งวงเงินชดเชยดังกล่าวอยู่ในกรอบวงเงินเพิ่มเติมที่ ครม.อนุมัติในวันนี้เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้เกษตรกรมั่นใจว่า จะได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามสิทธิ์อย่างแน่นอน
น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดการประชาสัมพันธ์และการดำเนินมาตรการคู่ขนานที่ควบคู่ไปกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 63/64 รวม 3 โครงการ คือ
- 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย. 63-29 ก.พ.64
- 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ต.ค. 63-30 ก.ย. 64
- 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย. 63-31 มี.ค.64 ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้ระยะเวลา 2-6 เดือน และจะได้รับชดเชยดอกเบี้ย 3% ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ จะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก
นอกจากนี้ สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 63/64 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและกระตุ้นให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี ในอัตราไร่ละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือนนั้น วันนี้ (1 ธันวาคม 2563) ธ.ก.ส.ได้เริ่มจ่ายเงินค่าบริหารจัดการฯ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวงวดแรกไปแล้ว จำนวนกว่า 400,000 ครัวเรือน รวมเป็นเงินกว่า 1,600 ล้านบาท
อีกประการหนึ่งที่ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำคือการส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ข้าวและการผลิตพันธุ์ข้าว ซึ่งวันนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 1,600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกศูนย์ทั่วประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (1 ธ.ค. 63)
Tags: ข้าว, ครม., ชาวนา, ธ.ก.ส., ประกันรายได้, รัชดา ธนาดิเรก, เกษตรกร