ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงาน Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 16 พร้อมการเสวนา “Get Ready for the Challenging Year 2021” โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่างเห็นตรงกันแม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ แต่ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเร่งตัวของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวเองให้ทันกับเทรนด์ยุคใหม่ พร้อมรักษามาตรฐาน ควบคู่กับการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ตลอดจนมุ่งรักษากระแสเงินสดและขยายกำไรด้วยการต่อยอดสินค้า
นายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า ในยุคนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องมองให้ไกลกว่าหนทางรอด เพราะวิกฤติโควิด-19 เป็นบททดสอบที่ทำให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีประเมินศักยภาพตนเองได้ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้พฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบอย่างมาก คนรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง มีกำลังซื้อน้อยลง พร้อมกับหันมาทำอาหารทานที่บ้าน ดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าให้สามารถเข้าสู่กระบวนการบริโภคแบบใหม่
พร้อมกับรักษากระแสเงินสดกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดที่หลากหลาย ขยายกำไรด้วยการเรียนรู้วิจัยพัฒนานำมาต่อยอดสินค้า ศึกษาโมเมนตัมของธุรกิจว่าปัจจัยใดควรส่งเสริม ปัจจัยใดสร้างแรงต้าน เพื่อนำไปสู่การปรับตัวในรูปแบบวิถีใหม่
สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องทำเพื่อเดินหน้าสู่ยุค Next Normal คือ ต้องกล้าที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม และให้ความสำคัญกับการรักษาชื่อเสียงและคุณธรรมขององค์กรมากกว่าการแสวงหาผลกำไร และยึดหลักการดำเนินงานภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นบรรทัดฐานทุกยุคสมัย ก็จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด เจ้าของร้านอาหารโอ้กะจู๋ กล่าวว่า ธุรกิจร้านโอ้กะจู๋ได้รับผลกระทบเต็มแรงจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะร้านอาหารเปิดให้บริการไม่ได้ ผักที่ปลูกเหลือค้างสต็อก ขณะที่ยังต้องดูแลพนักงาน ทำให้มีปัญหาต่าง ๆ เข้ามาให้บริษัทต้องคิดและหาแนวทางในการจัดการ ซึ่งหลังจากมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น บริษัทก็ได้เปิดบริการเดลิเวอรี่ทันที ควบคู่ไปกับการนำสินค้าที่ไม่มีโอกาสจำหน่ายเหล่านั้นเอาไปทำประโยชน์ในโครงการปันฮัก แจกหมอ พยาบาล เป็นการทำเพื่อสังคมแทน
ตั้งแต่ทำธุรกิจจากการเริ่มปลูกผักมา ผ่านวิกฤติปัญหามาหลายรูปแบบ ทั้งภัยธรรมชาติ พายุ น้ำท่วม แต่บริษัทมองว่าชีวิตและการทำธุรกิจ คือการแก้ปัญหา ต้องเรียนรู้ปัญหาเพื่อแก้ไข และมองว่าธุรกิจจะอยู่รอดได้นั้น ต้องรักษามาตรฐานของตนเองมากกว่ามุ่งแข่งขันกับคู่แข่ง จึงจะสามารถทำให้รักษาฐานลูกค้าได้ในระยะยาว
นางลาวัลย์ ศรีรุ่งเรืองจิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้เทรนด์การรักและดูแลสุขภาพ ของผู้บริโภคกลับมา ความพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้าก็มีมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ทำให้สินค้าของบริษัทได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากในช่วงวิกฤติดังกล่าว ทำให้เริ่มหาแนวทางในการพัฒนาสินค้ามาตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในคุณภาพสินค้าของผู้บริโภคที่เป็นแรงผลักดันให้บริษัทตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะวิจัยพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ที่ช่วยตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไนประเทศไทยอยู่รอดได้ในทุก ๆ สถานการณ์ คือ การเรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอยู่เสมอ รวมทั้งต้องมีสติที่จะอดทนต่อการแก้ไขปัญหา และยึดมั่นในความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้าเพื่อนำพาธุรกิจให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
นางศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีไทยสามารถที่จะใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการสร้างแบรนด์ ด้วยการยังคงให้บริการที่มีคุณภาพอย่างมืออาชีพควบคู่จรรยาบรรณวิชาชีพ และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบภายในองค์กร คือ พบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่สิ่งแรกที่ทำ คือ ป้องกันดูแลพนักงานคนอื่น ๆ ให้ปลอดภัย เพราะพนักงานต้องออกไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่ พร้อมทั้งให้กำลังใจและดูแลพนักงานที่ติดเชื้อ และสื่อสารกับลูกค้าถึงวิธีการบริหารสภาวะวิกฤติอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าเสมือนพันธมิตร
นางสาวอัชฌาวดี เจียมบรรจง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด กล่าวว่า แม้อุตสาหกรรมเหล็กหล่อจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมามากกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่สิ่งที่เป็นความเสี่ยงที่ต้องคำนึงและวางแผนรับมือเป็นอย่างแรก คือ ความปลอดภัยของพนักงาน ถ้าพนักงานติดเชื้อ บริษัทต้องรับมืออย่างไรและสิ่งต่อมาที่ต้องทำ คือ การวางแผนรักษาสภาพเงินสด เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ และวางแผนพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากจุดแข็งที่ตนเองมีให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าตามวิถีใหม่ที่เปลี่ยนไป เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าโควิด-19 จะอยู่นานแค่ไหน
ดังนั้น ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจึงไม่ควรหยุดแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ จากช่องว่างของการเปลี่ยนแปลง และฝากถึงผู้ประกอบการรายอื่นที่กำลังประสบปัญหาต่างๆ อยู่ก็ตาม ให้แยกวิกฤติหรือปัญหาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่แก้ไม่ได้ กับส่วนที่แก้ได้ และมุ่งเน้นไปในส่วนที่แก้ไขได้ก่อนอย่างทันท่วงที เพื่อนำพาธุรกิจไปให้สามารถเดินหน้าต่อได้ และพาธุรกิจผ่านพ้นจากวิกฤติไป สร้างโอกาสการเติบโตในอนาคตต่อไปได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (1 ธ.ค. 63)
Tags: SME, งานเสวนา, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธุรกิจเอสเอ็มอี, ผู้ประกอบการ, อุตสาหกรรมอาหาร, เอสเอ็มอี