นายนครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเสนอบทความ หัวข้อ”เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 : เดินหน้าอย่างเข้มแข็ง” ระบุว่า เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งถึงพัฒนาการของสถานการณ์โควิด-19 หลังข่าวดีที่มวลมนุษยชาติเฝ้ารอมาถึงเมื่อหลายบริษัทยารายใหญ่ของโลกรายงานความคืบหน้าในการทดลองวัคซีนซึ่งมีผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจมาก
ความสำเร็จดังกล่าวผนวกกับข่าวชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาท่านใหม่ ได้ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 30,000 จุด รายงานล่าสุดของ McKinsey ที่ออกแทบจะพร้อม ๆ กับผลการทดลองวัคซีน ได้ระบุว่าผลสัมฤทธิ์ของวัคซีนจะทำให้ความน่าจะเป็นที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศสหรัฐฯ จะยุติลงในช่วงครึ่งหลังของปี 64 เพิ่มสูงขึ้น บนข้อสมมติฐานว่ามีการกระจายวัคซีนให้ประชาชนได้รับอย่างทั่วถึงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เพียงพอ แต่ไม่ได้หมายความว่าการแพร่ระบาดจะยุติเร็วขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตถึงกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนที่อาจต้องจัดเก็บภายใต้อุณหภูมิต่ำเป็นพิเศษว่าจะดำเนินการได้สะดวกเพียงใดอีกด้วย
ปัจจัยแวดล้อมนี้เป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริง โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาส 3/63 ของไทยหดตัวลดลงจากปีก่อนเหลือ -6.4% จากที่หดตัวถึง -12.1% ในไตรมาส 2/63 ซึ่งหากเทียบเป็นการเติบโตแบบปรับฤดูกาลจากไตรมาสก่อนจะเพิ่มถึง 6.5% โดยที่มาสำคัญในการฟื้นตัวมาจากการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศยังติดลบอยู่อีกมาก
ดังนั้น ตราบใดที่สถานการณ์การดำเนินชีวิตในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และยุโรป ยังไม่กลับมาเป็นปกติแล้ว การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะยังค่อยเป็นค่อยไป คำถามสำคัญในขณะนี้คือเราจะปรับตัวอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ โดยขอเสนอคำตอบที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ประการแรก ความเข้มแข็งของกลไกสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นผ่านความแข็งแกร่งของกองทัพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่าล้านคนทั่วประเทศ เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขสู่ความสำเร็จของการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้สร้างความเชื่อมั่นว่า อสม.ซึ่งมีพื้นฐานการดำเนินการมาหลายทศวรรษ จะช่วยสร้างแบรนด์ให้กับไทยในการเป็นศูนย์กลางความปลอดภัยทางการแพทย์และพร้อมจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจทั่วโลกเข้าสู่ไทยหลังการแพร่ระบาดยุติลง ซึ่งจะเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง
ประการที่สอง การสอดรับระหว่างการดำเนินการของภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเริ่มดำเนินการอย่างตรงจุดเพื่อฟื้นฟูควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงการคนละครึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้นแต่จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าปลีกรายย่อยสามารถปรับตัวเข้าใช้เทคโนโลยีทางการเงินซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและสร้างตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้รายบัญชีที่ธนาคารพาณิชย์สามารถทำงานร่วมแก้ปัญหากับลูกหนี้กว่า 94% ในการออกแบบแก้ไขหนี้ให้เหมาะสมกับความจำเป็นเป็นรายตัว โดยไม่ต้องพักการชำระหนี้ทั้งกระดาน อันอาจเป็นผลเสียต่อวินัยทางการเงินในระยาวได้
ในด้านภาคอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กล่าวถึงความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นเพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ หลังได้เปลี่ยนนิยามโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลจากที่เคยมีคนงาน 7 คนขึ้นไป เป็น 50 คนขึ้นไป ทำให้โรงงานสามารถดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แสดงถึงความพร้อมในการจัดตั้ง F.T.I. Academy เพื่อยกระดับและปรับทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมร่วมกับสิบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯและสามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ
“หากเราสานต่อสัญญาณบวกสำคัญ คือ พื้นฐานระบบสาธารณสุขไทยและการปรับนโยบายของรัฐให้สอดประสานกับการเปลี่ยนผ่านของภาคเอกชนให้ยังส่องประกายแห่งความหวังต่อไปหลังวิกฤตโควิด-19 ยุติลงได้จะเป็นปัจจัยหลักในการเดินหน้าอย่างเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยไม่แพ้ข่าวดีจากผลการทดลองวัคซีน”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 63)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., นครินทร์ อมเรศ, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย