ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย ต.ค.หดตัวมากขึ้นตามบริโภคเอกชน-ใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.63 หดตัวในอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในเดือนก่อนจากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อน หลังปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษหมดลง

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำยังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่หดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนเช่นเดียวกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว -5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเล็กน้อยจากการผลิตหมวดยานยนต์และหมวดปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้า หดตัว 12.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน สอดคล้องกับการใช้จ่ายในประเทศที่หดตัว

ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนทั้งหมดเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงหมวดก่อสร้าง โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุน ส่วนการลงทุนหมวดก่อสร้างกลับมาหดตัวเล็กน้อย ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง สอดคล้องกับกิจกรรมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน กลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า ส่วนการลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้ภาครัฐเริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourists Visa : STV) เดินทางเข้าไทยได้ แต่ยังมีจำนวนน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง จากการใช้มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งด้านการจ้างงานและรายได้ แต่ยังเปราะบาง แม้ว่าตัวเลขในตลาดแรงงานมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในส่วนของผู้ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน มีสัดส่วนที่ลดลงต่ำกว่า 4 ล้านคน จากช่วงก่อนหน้าที่อยู่สูงระดับ 6 ล้านคน รวมทั้งรายได้รวมและเงินพิเศษ (โอที) เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนจากทั้งอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคม ที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อยตามการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงเดิม

นางสาวชญาวดี คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 จะไม่ฟื้นตัวแรงเหมือนไตรมาส 3/63 เนื่องจากในไตรมาส 2/63 รัฐบาลมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดหยุดนิ่ง ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3/63 หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ฟื้นตัวแรง แต่ในไตรมาส 4/63 ยังมีแรงส่งสำคัญจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 64

ในภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตร และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการรัฐอย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top