นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานงานนำเสนอผลงานผู้อบรมหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital CEO) รุ่นที่ 3 กล่าวว่า ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่า เรื่องการใช้เทคโนโลยีปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไป เราต้องก้าวตามให้ทัน โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาการใช้เทคโนโลยีให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เราเปิดกว้างให้คนหันมาใช้ดิจิทัล ในการทำงาน การประชุมผ่านระบบออนไลน์ ใช้ในการสั่งซื้อของและเรื่องต่าง ๆ
ก้าวแรกที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัลได้นั้น จะต้องมีฐานข้อมูลเป็นของตัวเองและล่าสุดได้มีคลาวด์กลางของภาครัฐ หรือ Government Data Center and Cloud Service (GDCC) แล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลของทุกกระทรวงหน่วยงานของภาครัฐมาไว้ที่เดียวกัน เพื่อสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ช่วยลดขั้นตอน ลดการใช้เอกสารจำนวนมาก ๆ ในการติดต่อราชการของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ทุกระบบของหน่วยงานราชการจะต้องเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด และรัฐต้องมีข้อมูลของประชาชนไว้เพื่อออกนโยบายมาดูแลคนได้อย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน ซึ่งการมีคลาวด์กลางของภาครัฐนั้นเป็นเรื่องที่ดีมากในการลดการใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวงในการเช่าพื้นที่คลาวด์เก็บข้อมูลซึ่งราคาการเช่ากับบริษัทภายนอกนั้นมีราคาสูงมาก
ส่วนเรื่อง 5G รัฐบาลไทยเป็นประเทศแรกๆในภูมิภาคอาเซียน ที่ได้ให้หน่วยงานของภาครัฐเข้าประมูลคลื่น 5G เพื่อนำมาบริหารการใช้งานในภาคส่วนต่างๆ แทนที่จะไปเช่าเอกชน ซึ่งภายในไม่เกิน 2 เดือนนี้ ทุกคนจะได้ใช้ 5G ที่ไม่ใช่แค่ผ่านมือถือเท่านั้น แต่ภาคธุรกิจจะถือว่ามีประโยชน์มาก ทั้งเพื่อการดาวน์โหลดข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความรวดเร็ว อีกทั้ง ปัจจุบันแรงงานไทยเหลือน้อยมาก จะรอใช้แต่แรงงานต่างชาติไม่ได้แล้ว ซึ่ง 5G จะเข้ามาแทนที่ทำโรงงานที่ใช้ดิจิทัลเท่านั้น แต่จะช่วยลดต้นทุน และได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น 5G จะรองรับภาคประชาชน ภาคการลงทุน และทุกภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องแข่งกับต่างประเทศโดยใช้ดิจิทัลมาช่วย เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก การแข่งขันจะแข่งกันวันต่อวัน ซึ่งวางแผนเป็นปีจะไม่ทันแน่นอน ดังนั้น รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานและลงทุนไปเยอะแล้ว จึงอยากให้ภาคเอกชนได้ใช้ทรัพยากรที่ภาครัฐลงทุนไปให้คุ้มกับภาษีที่ภาคเอกชนได้เสียไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อประเทศของเรา
ขณะที่ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ที่สะท้อนว่าประเทศไทยมีการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และกำลังก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง และปัจจัยหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ คือ การพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำองค์กรในยุคดิจิทัล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จะต้องเท่าทันและพร้อมรับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการประยุกต์ใช้ การบริการจัดการองค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital CEO) ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ 3 มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรในทุกมิติ เน้นต่อยอดองค์ความรู้ การบริการจัดการและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจสังคมยุคใหม่ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารภาครัฐและเอกชนที่เป็นเครือข่ายอันเข้มแข็งในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 63)
Tags: ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์, ดีป้า, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, รัฐบาลดิจิทัล