พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า AstraZeneca จำกัด
โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง ในฐานะประธานกรรมการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด, นายอเล็กซานดรา แมคเคนซี เอกอัครทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมในพิธี
ตามสัญญาดังกล่าวจะมีการส่งมอบวัคซีนชุดแรกให้ไทยในช่วงกลางปีหน้าจำนวน 26 ล้านโดส และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายเดียวสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นครั้งสำคัญในการลงนามร่วมกัน ระหว่างประเทศที่ทำการค้นคว้าวิจัยวัคซีนโควิด -19 ซึ่งเราได้ทำสัญญาจองซื้อ และกลุ่มนี้มีความก้าวหน้าที่สูงมาก และคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ต้นปีหน้า เราจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในประเทศ ทั้งเรื่องการบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ การขนย้ายและการเก็บรักษา
“ขอให้ทุกคนตั้งจิตให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี…ให้ทำสิ่งดีๆ หากวันใดไม่มีปัญหา ผมเองก็มีความสุข และตราบใดที่ประเทศยังไม่เรียบร้อย คนที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีความสุข แต่ความสุขของทุกคนต้องอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น คำนึงถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบ กฏหมายต่างๆ ไม่เช่นนั้นประเทศก็ไม่สงบ”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 สร้างความเสียหายทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจให้กับคนทั้งโลก ขณะที่ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งมาจากความร่วมมือของทุกคนทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง แต่ทั้งนี้ทุกคนก็ยังต้องไม่ประมาทระมัดระวังและร่วมกันป้องกันต่อไป
รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาด จึงได้ผลักดันมาตรการต่างๆออกมา และได้สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขและทุกภาคส่วนผลักดันให้โครงการจัดหาวัคซีนได้เกิดขึ้นตามเป้าหมายและในปี 64 ก็จะมีวัคซีนใช้อย่างทั่วถึง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานให้บริษัท สยามไบโอไซเอนส์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ดูแลการรับวัคซีนและแจกจ่ายไปยังประชาชน รวมถึงยังต้องดำเนินมอบให้ในภูมิภาคอาเซียนตามที่มีข้อตกลงกัน ดูแลซึ่งกันและกัน รวมถึงวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้
ในเรื่องของการวิจัยยาและวิจัยวัคซีนและอื่นๆนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญโดยได้จัดตั้งกองทุนและปรับระเบียบต่างๆให้เอื้อต่อการพัฒนาจนเกิดผลิตภัณฑ์จากการวิจัยมากมาย ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ในประเทศอีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับแนวทางที่จะใช้ในการเดินหน้าประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องพึ่งตนเองให้ได้ และจะต้องมีวัคซีนที่เพียงพอและใช้ในยามจำเป็นฉุกเฉินได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สถาบันฯ ทรงให้ความสำคัญด้วย โดยพระราชทานพระราโชบายไว้มากมาย หลายเรื่องกำเนิดขึ้นมาด้วยสถาบันฯ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยรัฐบาลน้อมใส่เกล้าใส่กระหม่อมดำเนินงานเพื่อประชาชน เพื่อความมั่นคงมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจเสมอ
นอกจากนี้ รัฐบาลใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขให้คนไทยแข็งแรง เช่น นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มการเข้าถึงสถานพยาบาล ใช้กลไกล อสม. ด้วยหลักว่า ทรัพยากรมนุษย์นั้นสำคัญมากที่สุด เพื่อพัฒนาบุคคลากรให้เข้มแข็ง
นายกรัฐมนตรี เปิดเผยอีกว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาว่าควรจะให้สิทธิประชาชนกลุ่มใดเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลอยากให้ทุกคนได้รับสิทธิทั้งหมดแต่คงจะไม่ไหว ซึ่งในเดือน ม.ค.รัฐบาลก็จะขยายมาตรการออกไปอีกอย่างน้อยอีก 3 เดือน ให้เป็นไปตามการใช้จ่ายงบประมาณทุกๆ 3 เดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 63)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ลงนาม, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, สถิตย์พงษ์ สุขวิมล, สยามไบโอไซเอนซ์, อนุทิน ชาญวีรกูล, อเล็กซานดรา แมคเคนซี, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19