ปชป.ค้านชงศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไข รธน.ทั้งฉบับรัฐบาล-ฝ่ายค้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีที่จะมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ผ่านการพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้วนั้นมีความชอบโดยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น

ในส่วนของ ปชป.เห็นว่ามีความชอบโดยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะก่อนที่จะมีการลงชื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภานั้นก็ได้มีการตรวจสอบโดยรอบคอบทั้งหมดแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็เป็นสิทธิของผู้ที่จะยื่นไปวินิจฉัยอีกครั้งว่ามีความชอบโดยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการบรรจุญัตตินี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 1 ธ.ค.ที่จะถึงนี้

“หากมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ความเห็นของผมและพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่สนับสนุนที่จะให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเรามั่นใจว่าร่างที่เราเสนอไปนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว นอกจากนี้หากมีความประสงค์จะตรวจสอบความชอบโดยรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็สามารถทำได้ หลังจากรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ได้เปิดโอกาสให้สามารถตรวจสอบความชอบโดยรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้อยู่แล้วในระยะเวลานั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องไปทำตอนนี้ ที่สำคัญคือ หากมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็จะทำให้เกิดความรู้สึกได้ว่าต้องการยื้อเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และไม่มีความจริงใจเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่โดยไม่จำเป็น”

นายจุรินทร์ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ปชป.พร้อมที่จะให้การสนับสนุน และพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมหากได้รับโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการสมานฉันท์ 7 ฝ่ายดังกล่าว ส่วนข้อกังวลที่คาดว่าอาจมีบางฝ่ายไม่เข้าร่วมนั้นก็ไม่อยากให้คาดการณ์ไปก่อน แต่อยากให้รอระยะเวลาให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาให้ครบถ้วน และเห็นด้วยกับประธานฯ ที่บอกว่า หากได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น แล้วประชุมกันไปก่อน หากภายหลังมีใครประสงค์จะเข้าร่วมเพิ่มเติมก็สามารถเข้าร่วมได้ต่อไป และขณะนี้ฝ่ายที่ยังลังเลว่าจะเข้าร่วมหรือไม่นั้น ก็ไม่ต้องกังวลว่าถ้าเข้าร่วมแล้วจะกลายเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสเข้าร่วมในคณะนี้ ก็จะเสนอว่าไม่ควรใช้ระบบมติเสียงข้างมากบังคับให้เสียงข้างน้อยจะต้องปฏิบัติไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรใช้ความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ หรือที่เป็นฉันทมติร่วมกัน จึงนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นหลักที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ กล่าวว่า กรรมการชุดนี้ แม้บางฝ่ายมีความเห็นว่าไม่น่าจะนำไปสู่ข้อยุติที่จะเกิดความสมานฉันท์ แต่ก็คิดว่าไม่อยากเห็นการตีตนไปก่อนไข้ เพราะอย่างน้อยการมีกรรมการชุดนี้ ยังดีกว่าไม่มี และก็ยังเป็นความหวังที่จะให้ประเทศมีทางออกได้ในช่วงระยะเวลาต่อสถานการณ์สั้นๆ นี้ ส่วนปัญหาไหนที่คิดว่ายังค้างคาและยังไม่สามารถหาความเห็นร่วม หรือฉันทามติร่วมกันได้ ก็จะมีกรรมการอีกชุดก็จะตั้งขึ้น โดยให้สถาบันพระปกเกล้าฯ ไปออกแบบคณะทำงานชุดนี้ ดังนั้นปัญหาระยะกลาง ระยะยาวก็สามารถยกยอดไปพูดในที่ประชุมนั้นได้อีก

“การมีกรรมการชุดนี้คืออย่างน้อยที่สุดก็ยังมีช่องทางที่จะให้ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกัน แล้วจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้อย่างน้อยระดับหนึ่ง เพียงแต่ขอให้เข้าร่วมแล้วมาคุยกัน อะไรที่เห็นพ้องต้องกันก็ช่วยกันแก้ อะไรที่ยังไม่เห็นพ้องต้องกันก็คุยกันใหม่ คุยกันต่อไป จนกว่าจะได้ประเด็นที่เห็นพ้องกัน อะไรที่สุดท้ายก็ไม่เห็นตรงกันก็ยกยอดไปให้กรรมการชุดที่ 2 ที่จะแก้ระยะกลาง ระยะยาว ให้คุยกันต่อไป ผมยังหวังว่าน่าจะมีทางออกได้ในบางเรื่อง สำหรับกรรมการชุดนี้แล้วก็มีดีกว่าไม่มี”

นายจุรินทร์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top