นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรม และสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) จำนวน 5 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ดำเนินการโดย บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร วงเงิน 4,279.309 ล้านบาท
สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า – ลำตะคอง ดำเนินการโดย บริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งมีงานก่อสร้างสถานีปากช่อง และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 26.10 กิโลเมตร วงเงิน 9,838 ล้านบาท
สัญญาที่ 3-4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง – สีคิ้ว และช่วงกุดจิก – โคกกรวด ดำเนินการโดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ซึ่งมีจุดเด่น คือ งานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการ ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร วงเงิน 9,848 ล้านบาท
สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด – นครราชสีมา ดำเนินการโดยบริษัท กิจการร่วมค้าเอสพีทีเค จำกัด (ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย) ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.38 กิโลเมตร วงเงิน 7,750 ล้านบาท
สัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี – แก่งคอย ดำเนินการโดย บมจ ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) ซึ่งมีจุดเด่น คือ งานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร วงเงิน 8,560 ล้านบาท
การลงนามในสัญญาก่อสร้างฯ จำนวน 5 สัญญาดังกล่าว มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 101.15 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 68
นายชยธรรม์ กล่าวว่า การลงนามในสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) จำนวน 5 สัญญา เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยสู่โลก และเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจและเร่งรัด ติดตามความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด ซึ่งเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ กระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าโดยเร็ว
ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรฟท. คาดว่าจะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) เพื่อส่งมอบพื้นที่ ได้ช่วงต้นปี 2564 โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างรอออกประกาศพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินในจุดที่มีการเวนคืนเพิ่มและแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ป่าไม้
สำหรับการประมูลงานสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,330 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยว่า บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัดมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ตามที่บริษัทฯได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ถือเป็นที่สุด คาดว่าจะเสนอผลประมูลต่อที่ประชุมบอร์ดรฟท.ได้ในเดือนธ.ค. 2563 เพื่อเตรียมในการลงนามสัญญาต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ย. 63)
Tags: CIVIL, ITD, NWR, กระทรวงคมนาคม, การรถไฟแห่งประเทศไทย, จีน, ชยธรรม์ พรหมศร, นิรุฒ มณีพันธ์, รถไฟความเร็วสูง, ไทย, ไฮสปีดเทรน