สธ.ยันไม่มีนโยบายปกปิดข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงความคืบหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ว่า ในส่วนของประเทศไทย วันนี้ไม่มียอดผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มเติม

โดยยังคงที่อยู่ 35 ราย ขณะที่มีผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านได้แล้ว 17 ราย ซึ่งไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการรักษาผู้ป่วยจนหายดีและกลับบ้านได้ในอัตราที่สูง และมีการควบคุมโรคได้ดี

“สถานการณ์ในไทยคงตัว ผู้ป่วยรายงานล่าสุดที่ 35 ราย รายสุดท้ายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้ และตอนนี้อาการดีขึ้น ส่วนที่กลับบ้านได้แล้วมี 17คน เกือบครึ่งหนึ่ง ถือว่าเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านได้ในเปอร์เซ็นต์สูง ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนในรายที่อาการหนัก วันนี้ไม่มีไข้ และยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด”

นพ.โสภณกล่าว

พร้อมระบุว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกระดับการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, ชลบุรี, สมุทรปราการ, ประจวบคีรีขันธ์, ภูเก็ต, กระบี่, เชียงใหม่ และเชียงราย โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

“หากมีไข้ หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ มีประวัติ 14 วันย้อนหลัง ไปสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มนี้เราจะเฝ้าระวัง และตรวจหาสาเหตุการป่วย ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าระบบเฝ้าระวังเราเข้มแข็ง ขยายกลุ่มเป้าหมายในการเฝ้าระวัง หากมีการแพร่เชื้อเราจะรู้ได้ทันที” ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไประบุ

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่ากระทรวงสาธารณสุขได้จัดประชุมทีมงานเครือข่ายการป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการซักซ้อมมาตรการเฝ้าระวังในโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกับต่างประเทศที่มีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตจากการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ขณะนี้พบว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตแล้วถึง 6 ราย

ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์ของไทย นอกจากจะได้รับการอบรมอย่างดีแล้ว ยังมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงาน ไม่ให้ทำงานหนักจนเกินไป มีการพักผ่อนได้เพียงพอ แต่หากบุคคลากรทางการแพทย์คนใดมีความเสี่ยง ก็จะถูกนำเข้าสู่ระบบการตรวจรักษาอย่างดี จึงทำให้มั่นใจระบบการรักษาของไทยว่ามีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

ส่วนกรณีที่มีบางประเทศตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยมีการรายงานยอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความจริงหรือไม่ ทั้งที่ไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากนั้น นพ.โสภณ ยังยืนว่า ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารทั้งที่สนามบิน ท่าเรือ ตลอดจนสถานพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.63 และยังเป็นประเทศแรกที่ตรวจเจอว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนเป็นรายแรก เมื่อวันที่ 13 ม.ค.63 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขย้ำว่าไม่มีนโยบายที่จะปิดบังการรายงานจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อให้ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกันยังได้มีการขยายพื้นที่เฝ้าระวัง และขยายการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้น

“มาตรการเราเข้มงวดตลอด เมื่อเราทำเร็ว ประชาชนก็จะตระหนักรู้ถึงความสำคัญก่อน ทำให้ทั้งระบบของเราทั้งสนามบิน ท่าเรือ โรงพยายบาล ประชาชน ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว ต่างลุกขึ้นมาร่วมกันป้องกัน ซึ่งทำให้ปัญหาลดลง เราคงต้องถามกลับไปยังประเทศที่ถามเราว่าแล้วเขาทำอะไรในเชิงป้องกัน ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการแพร่เชื้อลงบ้าง” นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณ ยังให้ข้อมูลรายละเอียดของจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ซึ่งในส่วนของไทยมีจำนวน PUI สะสมอยู่ที่ 957 รายนั้น พบว่ามีสัดส่วนของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ที่เป็นคนไทย และคนจีน ในอัตราส่วนเท่ากันที่ประมาณ 45% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นคนประเทศอื่นๆ ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีรายงานการระบาดของไวรัสโควิด-19

“จากยอด PUI สะสมทั้งหมด 957 คน ขณะนี้เคลียร์ไปได้แล้ว 800 กว่าคนที่สามารถกลับบ้านได้แล้ว ส่วนใหญ่อาการคือเป็นไข้หวัด และยังเหลือรอผลแล็ปอยู่ในโรงพยาบาลอีก 80 กว่าคน” นพ.โสภณกล่าว

สำหรับกระบวนการอนุญาตเรือสำราญอื่นๆ ให้เข้าเทียบท่าในไทยนั้น นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปกติแล้วเรือสำราญที่เข้ามาเทียบท่าจะต้องแจ้งปลายทางล่วงหน้า เมื่อได้รับอนุญาต จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมือง การตรวจคัดกรองสุขภาพคน-สัตว์ สุขอนามัยของเรือ ตามมาตรฐานกฎอนามัยระหว่างประเทศ ส่วนเรือบางลำที่ไม่มีเป้าหมายมาไทย แต่แค่ขอมาแวะพักนั้น อำนาจอยู่ที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมเป็นผู้อนุญาต ซึ่งหากประเมินว่ามีความเสี่ยง ก็มีสิทธิที่ไม่อนุญาตให้เทียบท่า เว้นแต่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีผู้เจ็บป่วย ก็จะได้รับการดูแลตามหลักมนุษยธรรม

“เรามี 69 ด่านทั่วประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เราดูแลตามมาตรฐานกฎอนามัยระหว่างประเทศทั้งหมด ก่อนมีสถานการณ์ก็ดำเนินการตามมาตรฐานอยู่แล้ว พอมีเรื่องไวรัสโคโรนา ก็มีการรวมกำลังกันมากขึ้น เช่น ทหารเรือ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ทั้งกำลังคน และมาตรฐานของเราไม่น่าจะมีปัญหา” โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 63)

Tags: , , ,
Back to Top