ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 จะพลิกกลับมาเติบโตเป็นบวกที่ 3.3% จากในปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัว -6.4% โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ มาจากการส่งออกที่ฟื้นตัว และการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ BAY กล่าวว่า ปัจจัยหนุนการพลิกกลับมาเป็นบวกของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามาจากการส่งออกที่จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 4.5% จากปี 63 ที่ -7.5% โดยที่การส่งออกเริ่มมีการขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงไปหลังไตรมาส 2/63 จากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุปกรณ์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการทำงานจากที่บ้าน (work from home)
ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวตามวัฏจักรของภาคการผลิตโลกจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยองค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าการเติบโตของยอดส่งออกโลกจะเพิ่มขึ้น 7.2% ในปี 64 จากคาดการณ์ที่ติดลบในปีนี้ -9.2% และยังมีโอกาสการเติบโตในระยะปานกลางจากภูมิภาคอาเซียนที่กำลังขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization)
นอกจากนี้ความคืบหน้าของการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทยถือว่าเป็นปัจจัยหนุนต่อการช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอกค่อนข้างมาก และยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยให้พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างเร็ว ซึ่งการรวมกลุ่มความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่จะนำพาเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้มากขึ้น โดยที่ความร่วมมือ RCEP จะเป็นโอกาสในการที่ประเทศไทยจะได้ขยายฐานการส่งออกไปสู่ประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น และเป็นกลุ่มประเทศที่ประชากรเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น ทำให้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยได้
ส่วนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในปี 64 มองว่าจะเห็นการลงทุนกลับมาเพิ่มมากขึ้น โดยที่การลงทุนภาครัฐในปี 64 จะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 63 ที่ 10.5% โดยรัฐบาลมีแผนที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ขณะที่ความล่าช้าของการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณปี 63 กลับกลายเป็นปัจจัยบวกสำหรับอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาขยายตัวได้ 3.2% ในปี 64 จากปีนี้ที่หดตัว 11%
โดยธนาคารมองเห็นสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคส่งออก โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ที่เด่นชัดของยอดส่งออกและการลงทุนด้านอุปกรณ์ในอดีตที่ผ่านมา โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมได้แตะระดับก่อนวิกฤติถือเป็นการเปิดทางไปสู่การขยายการลงทุนต่อไป
ด้านภาคการท่องเที่ยวในปี 64 ยังเผชิญกับปัจจัยกดดันของโควิด-19 ต่อเนื่อง จากการที่ประเทศยังไม่สามารถเปิดได้อย่างรวดเร็ว จนกว่าจะสามารถนำวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาใช้ได้จริง ซึ่งคาดว่ากว่าประเทศไทยจะได้วัคซีนมาใช้น่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวในครึ่งแรกของปี 64 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 64 ยังไม่ฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งธนาคารได้ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 64 ลดลงเหลือ 4 ล้านคน จาก 7 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กดดันยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ปัจจัยทางการเมือง ซึ่งยังมีความไม่สงบและมีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น แต่สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันถือว่ายังไม่รุนแรง ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 64 ซึ่งธนาคารได้นำมาคำนวณในประมาณการเศรษฐกิจปี 64 ไว้แล้ว
นายสมประวิณ กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำ และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารกลางหลักๆทั่วโลก บ่งชี้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ตลอดปี 64 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในภาคธุรกิจต่างๆ ทำให้การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินมีแนวโน้มเป็นแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และอาจมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้ ไปจนถึงมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องในลักษณะวงจรขาลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 63)
Tags: BAY, GDP, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ส่งออก, สมประวิณ มันประเสริฐ, เศรษฐกิจไทย