สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนได้ส่งยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ-5” (Chang’e-5) ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในวันนี้ เพื่อปฏิบัติภารกิจเก็บตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์กลับมายังโลก ซึ่งนับเป็นความพยายามครั้งแรกของประเทศในการเก็บตัวอย่างวัตถุจากนอกโลก
รายงานระบุว่า จรวดขนส่งลองมาร์ช-5 (Long March-5) ซึ่งบรรทุกยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 ได้ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชางบนชายฝั่งมณฑลไห่หนาน ทางตอนใต้ของจีน เมื่อเวลา 04.30 น. ตามเวลาปักกิ่ง โดยฉางเอ๋อ-5 ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ซับซ้อนและท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์วงการอวกาศจีน ทั้งยังเป็นภารกิจเก็บตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์ครั้งแรกของโลกในรอบกว่า 40 ปี
นายเผยจ้าวอวี๋ รองผู้อำนวยการศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ (Lunar Exploration and Space Program Center) สังกัดองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เปิดเผยว่า ภารกิจดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน รวมถึงวางรากฐานสำคัญสำหรับการลงจอดบนดวงจันทร์แบบควบคุมด้วยมนุษย์และการสำรวจอวกาศห้วงลึกในอนาคตของจีน
นายเผยกล่าวว่า หากภารกิจฉางเอ๋อ-5 ประสบผลสำเร็จ เท่ากับว่าโครงการสำรวจดวงจันทร์ในปัจจุบันของจีนจะได้ข้อสรุปที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ โครงการสำรวจดวงจันทร์ 3 ขั้นตอน ที่ตั้งชื่อตามเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ” ในตำนานจีน เริ่มต้นขึ้นในปี 2547 ประกอบด้วยการโคจรรอบดวงจันทร์ การลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ และการนำตัวอย่างกลับมายังโลก
นายเผยชี้ว่า จีนได้รับเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานในการสำรวจดวงจันทร์แบบไร้มนุษย์ควบคุมด้วยการลงทุนอันจำกัด พร้อมเสริมว่าขณะนี้จีนกำลังร่างแผนการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต โดยภารกิจฉางเอ๋อ-5 จะใช้วิธีเก็บตัวอย่างที่แตกต่างจากของสหรัฐ และสหภาพโซเวียต เพื่อปูทางสู่การสำรวจดวงจันทร์แบบควบคุมด้วยมนุษย์และการสำรวจอวกาศห้วงลึก
“การทะยานสู่ห้วงอวกาศแบบไร้มนุษย์ควบคุมและเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์จะเกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มันจะเป็นภารกิจที่ยากมาก” นายเผิงจิง รองหัวหน้าผู้ออกแบบยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 จากสถาบันเทคโนโลยีอวกาศจีน (CAST) สังกัดบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CASC) ระบุ
“เรียกได้ว่าเป็นภารกิจที่สร้างความก้าวหน้า ความสำเร็จครั้งนี้จะช่วยให้เรามีความสามารถพื้นฐานสำหรับการสำรวจอวกาศห้วงลึกในอนาคต อาทิ การเก็บตัวอย่างและออกเดินทางจากดาวอังคาร ดาวเคราะห์น้อย และวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ”
นายเผิง กล่าว
สำหรับเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ของภารกิจฉางเอ๋อ-5 นั้น คือการตรวจสอบพื้นที่ลงจอดเพื่อเก็บข้อมูลการวิเคราะห์สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับตัวอย่างจากดวงจันทร์ ตลอดจนการวิเคราะห์ตัวอย่างจากดวงจันทร์ในห้องปฏิบัติการในระยะยาว โดยฉางเอ๋อ-5 ได้กำหนดพื้นที่ลงจอดอยู่ห่างออกจากพื้นที่ลงจอดของฉางเอ๋อ-3 ซึ่งเดินทางสู่ดวงจันทร์เมื่อปี 2556 ไปทางทิศตะวันตก
คณะผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเลือกพื้นที่ลงจอดดังกล่าวจากอายุทางธรณีวิทยา ซึ่งน้อยกว่าพื้นที่เก็บตัวอย่างของสหรัฐ และสหภาพโซเวียต ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยมีการเก็บตัวอย่างมาก่อน โดยตัวอย่างใหม่นี้จะมีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์อย่างมหาศาล
“คณะนักวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศทุกคนจะมีโอกาสได้รับตัวอย่างดวงจันทร์ที่ถูกนำกลับมายังโลกโดยฉางเอ๋อ-5 เพื่อนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติม” นายเผยกล่าวปิดท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 63)
Tags: XINHUA, จีน, ฉางเอ๋อ-5, ดวงจันทร์, ยานสำรวจ, ยานอวกาศ, อวกาศ, เผยจ้าวอวี๋, เผิงจิง