ตร.ถกเตรียมความพร้อมหากต้องใช้ ม.112-ระดมกำลังบล็อกรอบสำนักทรัพย์สินฯ

รายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่า พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เรียกประชุมพนักงานสอบสวนหาแนวทางการดำเนินคดีกับแกนนำการชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) โดยมีการหารือเกี่ยวกับการแจ้งข้อหากับแกนนำและผู้ชุมนุมกรณีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้ทันทีหากพบการกระทำความผิด โดยไม่ต้องแจ้งมาที่ส่วนกลางก่อน

พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การจะดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับผู้ชุมนุมหรือไม่ จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมในการแจ้งข้อหากับแกนนำผู้ชุมนุมเพิ่มเติม โดยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น.แถลงในวันนี้ว่า กรณีที่กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมที่บริเวณสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในวันพรุ่งนี้ บช.น.ได้จัดเตรียมกำลังตามความเหมาะสมต่อสถานการณ์จากสถานีตำรวจนครบาล (สน.) โดยรอบ 5 แห่ง ได้แก่ สน.ชนะสงคราม สน.สามเสน สน.สำราญราษฎร์ สน.นางเลิ้ง และ สน.ดุสิต เพื่อป้องกันดูแลเหตุร้าย ควบคุมฝูงชน อำนวยการจราจร การตั้งด่านตรวจ และชุดเคลื่อนที่เร็ว

สำหรับสถานการณ์ในเบื้องต้นยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ตำรวจจะพยายามดูแลไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าแล้วปะทะกันอีก โดยแยกผู้ชุมนุมที่เห็นต่างออกจากกัน ซึ่งขอให้ทุกคนเคารพกฎหมาย โดยในรัศมี 150 เมตรรอบเขตพระราชฐานและพื้นที่สำคัญจะมีการจัดวางกำลังตั้งแนวเหนี่ยวรั้งเพื่อเตือนผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ

“ทุกพื้นที่ที่มีความสำคัญมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน หากถูกทุบทำลายเสียหายหรือมีเพลิงไหม้ขึ้นมา บางอย่างที่สูญเสียไปไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้”

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว

รอง ผบช.น.กล่าวว่า มาตรการที่จะสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ต้องห้ามนั้นจะพิจารณาไปตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงกรอบของกฎหมาย เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่เลือกปฏิบัติ ดูแลผู้ชุมนุมทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งขอย้ำเตือนให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบว่าการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่สามารถทำได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ทำผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันตำรวจก็ต้องจัดเตรียมมาตรการป้องกันตามกฎหมายเช่นกัน

นับตั้งแต่เดือน ก.ค.-พ.ย.63 ที่มีการชุมนุมทางการเมืองต่อเนื่อง พบผู้กระทำผิดกฎหมายราว 170 คดี โดยเป็นเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ ราว 100 คดี และต่างจังหวัด 70 คดี ซึ่งหากผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายจะถูกดำเนินคดีตามหลังทุกราย

สำหรับน้ำที่ใช้ฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมนั้นจะผสมแก๊สน้ำตาเหลวที่ส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวและตา ระบบทางเดินหายใจติดขัดในระยะสั้นๆ แต่ไม่เป็นอันตรายถึงเสียชีวิต ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไป และเจ้าหน้าที่เองก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน แต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะรองโฆษก บช.น.กล่าวว่า จะมีการปิดการจราจรพื้นที่โดยรอบสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และปิดทางลงด่วนยมราช ตั้งแต่เวลา 04.00 น.วันที่ 25 พ.ย.63 เป็นต้นไป โดยได้ประสานไปยังหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ให้ทราบแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top