นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจไทยปี 2564 เราจะรับมืออย่างไร” ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64-65 จะมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศสามารถควบคุมได้และเริ่มคลี่คลาย โดยประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 64 และ 65 จะขยายตัวได้ราว 4% แต่ก็ยังโตไม่เต็มศักยภาพนัก จากปีนี้ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว -6%
ทั้งนี้ เหตุที่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้นั้น มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และมาตรการสนับสนุนด้านการลงทุน ซึ่งกระทรวงการคลังได้เตรียมงบประมาณราว 30% หรือ 9.8 แสนล้านบาท จากงบประมาณปี 64 ทั้งหมด 3.3 ล้านล้านบาท มาใช้รองรับในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอน พร้อมกับการจัดสรรวงเงินไว้ใช้ในการสั่งซื้อวัคซีนรักษาโควิด-19 ที่มีความคืบหน้าออกมาค่อนข้างมาก เพื่อสร้างความมั่นใจในการเตรียมพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในระยะต่อไป
นายอาคม กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นยังทำได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนหลัก คือ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นกลับมาได้เร็ว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 63 และต่อเนื่องไปถึงปี 64 หายไปอย่างมาก จากในภาวะปกติที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยกว่าปีละ 45 ล้านคน ซึ่งเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักและชะลอตัวลงอย่างมาก ส่งผลกดดันเศรษฐกิจไทย เพราะรายได้จากภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนใน GDP ไทยสูงถึง 12% หากภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับมาได้เร็ว ก็มองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว
จากผลกระทบของภาคการท่องเที่ยวที่กดดันเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาครัฐต้องหันมากระตุ้นการลงทุนของรัฐและเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงโครงการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับยกระดับประเทศไทยให้พัฒนาขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามามากขึ้น
ภาครัฐจะมีการออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนโครงการต่างๆ แต่จะเน้นไปที่โครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่จะให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดสรรเงินงบประมาณปี 65 ที่จะเน้นการสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุหลัก คือ มลพิษจากรถยนต์ และการเผาพื้นที่การกษตร โดยในส่วนของการลดมลพิษทางรถยนต์ จะเน้นไปที่การลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเป็นโอกาสก้าวใหม่ของประเทศไทยในการขยายไปสู่ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ร่วมกับเอกชนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ที่จะทยอยออกมาต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นการช่วยสนับสนุนด้านการเงินให้กับภาครัฐ และทำให้กระทรวงการคลังสามารถบริหารวินัยทางการคลังได้อย่างเหมาะสม ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่จะพุ่งขึ้นไปแตะเพดานที่ 60% ของ GDP นั้นลดลง โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 49% ของ GDP ซึ่งถือว่าอยู่ไนระดับที่เหมาะสมและไม่สูงมากเกินไป โดยที่รัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนการไฟแนนซ์ไนส่วนของเงินทุนให้มีความเหมาะสม และดูแลเสถียรภาพทางการเงินและการคลังอย่างดี เพื่อทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพ
สำหรับการเยียวยาผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน และโรงแรม ในการเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือ และวงเงินที่เหมาะสมแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งข้อเสนอต่างๆ ใกล้จะมีข้อสรุปแล้ว คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเร็วๆ นี้
ส่วนวงเงินซอฟท์โลนที่ปล่อยผ่านธนาคารออมสินนั้นมีการเบิกใช้ไปน้อยกว่าที่คาด ทำให้กระทรวงการคลังต้องเตรียมการทบทวนเงื่อนไขใหม่อีกครั้ง เพื่อทำให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงวงเงินนำมาเสริมสภาพคล่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้
“วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้กระทบฐานใหญ่ของประเทศ ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตปี 40 ที่กระทบภาคการเงินก่อนและค่อยๆ มากระทบคนส่วนใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจเกิดการหดตัวลงมา และเกิดการหยุดชะงักในบางภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนสูงถึง 12% ของ GDP ซึ่งทำให้เศรษกิจไทยได้เห็นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ -12.2% แต่ยังน้อยกว่าไตรมาส 2 ของปี 41 ที่ลดลง -12.5% หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
การฟื้นตัวของไทยยังคงต้องใช้เวลา 1-2 ปีจากนี้ คงไม่ได้เห็นการฟื้นกลับมาเร็ว เพราะยังต้องรอความชัดเจนการใช้วัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาใช้ได้จริง ซึ่งตอนนี้ก็มีความคืบหน้ามากแล้ว และรัฐบาลก็เตรียมจัดสรรงบประมาณพรีออเดอร์วัคซีน อยากให้ทุกคนอดทนอีกสักระยะ ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นและสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ค่อยๆ กลับมาได้ ท่ามกลางภาวะที่มีปัจจัยไม่แน่นอนอยู่มาก”นายอาคม กล่าว
พร้อมเชื่อว่า ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในการลงทุน เห็นได้จากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าไนประเทศไทย โดยเฉพาะกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น และล่าสุดในวันนี้ดัชนีได้ปรับเพิ่มขึ้นไปอีก 20-30 จุดสะท้อนภาพความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่ยังมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 63)
Tags: กระทรวงการคลัง, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, เศรษฐกิจ