นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 38th ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: The 38th AMEM) ซึ่งมีประเทศเวียดนาม เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรูปแบบออนไลน์เมื่อเร็ว ๆ นี้
โดยที่ประชุมอาเซียนยังคงมุ่งเน้นการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืนทางพลังงานในอนาคต พร้อมไปกับการตระหนักถึงผลกระทบจากโควิด-19 และความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังสถานการณ์โควิด-19 และการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมทางพลังงาน ที่ตอบสนองต่อระบบพลังงานรูปแบบใหม่
สำหรับการประชุม AMEM ครั้งที่ 38 มีผลสำเร็จสำคัญที่เกิดขึ้น ได้แก่ เห็นชอบแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน ระยะที่ 2 ปี 2564-2568 (APAEC Phase II) โดยมีแนวคิดคือ “มุ่งเน้นการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านและเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านความยืดหยุ่นทางพลังงาน เพื่อไปสู่นวัตกรรมที่ดีกว่า”
ด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (APG) มีการขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีภายในภูมิภาคจาก 3 เป็น 4 ประเทศ และมีการให้คำมั่นจะลงนามในบันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 4 ประเทศคือ สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (LTMS-PIP) ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และจะเริ่มทำการซื้อขายภายในปี 2565-2566
ด้านการเชื่อมโยงด้านก๊าซ (TAGP) ได้มีการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ (สถานีกักเก็บ LNG) ปัจจุบันอาเซียนมีความสามารถในการรองรับได้ทั้งสิ้น 38.75 ล้านตัน/ปี ใน 9 สถานี และส่งเสริมการค้า small scale LNG และการสร้างเสถียรภาพของตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาค
ด้านถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์พลังงานอาเซียน หรือ ASEAN Centre of Excellence for Clean Coal and Technology เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ถ่านหินของภูมิภาค
ด้านประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน (EE&C) ในปี 2561 อาเซียนสามารถลดความเข้มการใช้พลังงาน ได้ร้อยละ 21 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นในปี 2563 จึงเพิ่มเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงานจากเดิม 30% เป็น 32% ภายในปี 2568
ด้านพลังงานหมุนเวียน (RE) อาเซียนเพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2568 จากเดิมที่ 30% เป็น 35% และเร่งสนับสนุนกิจกรรมด้านพลังงานทดแทนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ที่ 23% ภายในปี 2568
ด้านนโยบายและแผนพลังงานของภูมิภาคอาเซียน (REPP) ได้จัดทำการศึกษาทิศทางพลังงานของภูมิภาค อาเซียน ฉบับที่ 6 (AEO6) และเพิ่มแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกระทบต่อภาคพลังงาน
ด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน (CNE) อาเซียนจะเดินหน้าส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ และเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาค
ความร่วมมือเครือข่ายการกำกับกิจการพลังงานอาเซียน (AERN) จะมุ่งเน้นการร่วมมือกันในการศึกษาการเพิ่มบทบาทขององค์กรกำกับกิจการพลังงานและการศึกษาแนวทางการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังมีกรอบความร่วมมืออาเซียน +3 จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และกรอบความร่วมมือเอเชียตะวันออก โดยได้เน้นย้ำความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ และการเป็น Low Carbon Society
ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ อาเซียนขอบคุณหน่วยงานทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ที่สนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนให้เป็นไปตาม เป้าหมาย ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการทำการศึกษาต่าง ๆ
ทั้งนี้ อาเซียนยังได้แสดงความยินดีกับบรรดาผู้ได้รับรางวัล ASEAN Energy Awards ประจำปี 2563 ทุกประเภท ซึ่งในปีนี้ไทยเป็นผู้ได้รับรางวัลมากที่สุด ด้านการอนุรักษ์พลังงาน 14 รางวัล ด้านพลังงานหมุนเวียน 11 รางวัล และได้รับ รางวัลบุคคลดีเด่นด้านการบริหารจัดการพลังงานอีก 3 รางวัล
“การประชุม AMEM ครั้งที่ 38 นี้ ไทยได้แสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศของภูมิภาคอาเซียน และได้นำเสนอ นโยบายและผลักดันความร่วมมือทางด้านพลังงานในภูมิภาค เพื่อการพัฒนาทางพลังงานของประเทศไทยและสอดรับ กับนโยบายในการส่งเสริมและฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 63)
Tags: AMEM, กระทรวงพลังงาน, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, อาเซียน