น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อสังเกตของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรเสนอ
CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่จะนำไปสู่โอกาสที่เพิ่มขึ้นทางการค้า การลงทุน และขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า ได้แก่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา รัฐวิสาหกิจ นโยบายการแข่งขันทางการค้า มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก
ทั้งนี้ เพื่อให้การตัดสินใจของรัฐบาลเป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่เป็นที่กังวลจากภาคส่วนต่างๆ อีกทั้งเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง กมธ.วิสามัญฯ ได้ทำการศึกษาโอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและมีข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น ดังนี้
- ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ให้ทำความเข้าใจเกษตรกรยอมรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV และเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และจัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
- ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ให้มีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนยา ที่มีส่วนประกอบของจุลชีพหรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับจุลชีพ ต้องสำแดงแหล่งที่มาร่วมด้วยให้เร็วที่สุด, ศึกษาและหรือวิจัยต่อยอดเพิ่มเติมในลักษณะบูรณาการ เช่น ผลกระทบด้านการขึ้นทะเบียนตำรับยา การเข้าถึงยาของประชาชน, เร่งดำเนินการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลพันธุ์พืชสมุนไพรให้ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันโดยเร็วที่สุด, ให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบ จำแนกเครื่องมือแพทย์ และเครื่องมือแพทย์มือสอง
- ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เช่น ให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า, ควรเจรจาเพื่อจัดทำภาคผนวกของข้อบทลงทุนที่ประเทศไทยมีสิทธิ์ในการเจรจาข้อสงวน, ให้กรมบัญชีกลางดำเนินการศึกษากฎหมายกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐที่ไม่สอดคล้องกับความตกลง CPTPP
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ครม.ได้มอบหมายให้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ รับข้อสังเกตดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ส่งผลการพิจารณาให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป
“ในลำดับต่อไปจะเป็นการพิจารณาว่าจะไปเจรจาหรือไม่ บนเงื่อนไข/ข้อสงวนลักษณะใดต่อประเด็นอ่อนไหวที่จะเป็นการให้เวลาประเทศไทยดำเนินการในเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว จึงยังมิใช่การลงนามในข้อตกลงฯ เพราะกว่าจะถึงตรงนั้นต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178” น.ส.รัชดา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 63)
Tags: CPTPP, ครม., รัชดา ธนาดิเรก