ความโดดเด่นของหุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คือทนทานต่อภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ มีรายได้เติบโตและมั่นคงสูงสร้างผลตอบแทนเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ
หุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ถูกพูดถึงกันมากเวลานี้คือ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) บริษัทลูกหัวแก้วหัวแหวนของกลุ่ม บมจ.บ้านปู (BANPU) เรือธงธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่เตรียมเข้าคำนวณดัชนี MSCI GLOBAL SMALL CAP INDEX รอบล่าสุดตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.63 ส่งผลดีต่อการเพิ่มน้ำหนักลงทุนของสถาบันทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนผลการดำเนินงานที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น
หากนับถอยหลังไปในปี 60 ราคาหุ้น BPP เคยทะยานขึ้นไปทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 31.75 บาทเมื่อวันที่ 17 ต.ค.60 จากราคา IPO ที่ 21.00 บาท หลังจากนั้นเริ่มเข้าสู่โหมดขาลงก่อนจะมาทำจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เข้าตลาดฯที่ราคา 10.00 บาทเมื่อวันที่ 16 มี.ค.63 นั่นแปลว่าในระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้น BPP ทรุดตัวลงไปมากกว่า 50% !!
“อินโฟเควสท์” มีโอกาสพูดคุยกับ นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 เม.ย.63 พร้อมกับโจทย์ใหญ่สำคัญ คือการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าด้วยการแสวงหาโอกาสเติบโตในต่างประเทศเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายอาณาจักรพอร์ตโรงไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปีข้างหน้า
นายกิรณ กล่าวถึงราคาหุ้น BPP วันนี้ว่า ส่วนตัวคงไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาหุ้น BPP โดยตรง เพราะการขึ้นหรือลงของราคาหุ้นนั้นมีผลกระทบจากหลาย ๆ ปัจจัยแวดล้อม ซึ่งรวมถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่หากย้อนมาพิจารณาความแข็งแรงของบริษัท โดยเฉพาะโครงสร้างทางการเงินและผลตอบแทนที่ให้กับผู้ถือหุ้นก็สามารถดำเนินการได้อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ อยากให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ตัดสินบริษัทจากตัวเลขต่าง ๆ ที่บริษัทกำลังก้าวเดินต่อไป เพราะทีมบริหารทุกคนมีภารกิจอย่างเดียวคือต้องเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว ต้องบริหารความเสี่ยงรอบด้าน สร้างการเติบโตได้ตามแผนงาน และที่สำคัญคือต้องสร้างความน่าเชื่อถือกับผู้ลงทุนจากผลประกอบการในอนาคตอันใกล้
“ผมเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง CEO BPP เมื่อวันที่ 10 เม.ย.63 ทำงานให้กับกลุ่มบ้านปูมากว่า 10 ปีแล้ว เริ่มงานแรกคือ Head of strategic planning ในไทยก่อนจะย้ายไปประจำในประเทศออสเตรเลียเกือบๆ 3 ปี (ปีค.ศ.2013-2015) และย้ายไปประจำที่ประเทศอินโดนีเซียปลายปี 2015 และก้าวขึ้นเป็นตำแหน่ง President Director หรือเป็น CEO บริษัทลูกของกลุ่มบ้านปูในอินโดนีเซียปลายปี 2016 ขณะนั้นก็ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตลอด 4 ปี ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งใหม่คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP ในปัจจุบัน
และนับตั้งแต่เริ่มงานกับกลุ่มบ้านปูในส่วน Head of strategic planning ก็คุ้นเคยกับธุรกิจไฟฟ้าของบ้านปูที่มีมานานหลาย 10 ปีแล้วได้เคยศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างธุรกิจ BPP เป็นอย่างดี และด้วยประสบการณ์ในต่างประเทศมีความคุ้นเคยกับลูกค้าที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้ามาอย่างหลากหลาย”
นายกิรณ กล่าว
3 กลยุทธ์สู่ 5 ปีเป้า 5,300 MW ลุ้นปิดดีลโรงไฟฟ้า Shale gas ต้นปี 64
นายกิรณ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตของ BPP อยู่ที่ 2,400 เมกะวัตต์ บริษัทวางเป้าปี 2568 หรือภายใน 5 ปี ต้องมีกำลังการผลิตรวม 5,300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 4,500 เมกะวัตต์ ,และเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 800 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนนั้น 50% จะเป็นโครงการบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบ้านปูที่จะเป็นผู้นำด้านพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นระบบนิเวศ หรือ Ecosystem เชื่อมโยงทุกธุรกิจของกลุ่มบ้านปูเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กิจการ ก้าวสู่เป้าหมายผู้นำด้านพลังงานแห่งอนาคตเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มฯต่อไป
สำหรับการเติบโตในอนาคตวางแนวนโยบายไว้ 3 กลยุทธ์หลักคือ ข้อหนึ่งบริษัทเน้นการทำธุรกิจร่วมกันเพื่อให้เกิด Synergy ในกลุ่มบ้านปู สะท้อนแต่ละธุรกิจของ BPP จะเข้าไปขยายการลงทุนในพื้นที่ที่บริษัทแม่เข้าไปดำเนินการลงทุนอยู่แล้ว เช่น กรณี BANPU เพิ่งปิดดีลซื้อกิจการโครงการธุรกิจ Shale gas ประเทศสหรัฐฯ เป็นที่มาของการศึกษาการลงทุนขยายโครงการโรงไฟฟ้าจาก Shale gas คาดว่าจะมีความชัดเจนช่วงต้นปี 64 ส่วนขนาดของโรงไฟฟ้าจาก Shale gas ปกติจะมีขนาดกำลังการผลิต 600-800 เมกะวัตต์ แต่สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับผลการศึกษาว่าจะเข้าไปลงทุนขยายโครงการอย่างไรเพื่อเกิดประโยชน์และคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด
และข้อสองคือต้องการเข้าไปขยายการลงทุนในประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกตัวอย่างประเทศจีน เป็นต้น
และข้อสามคือวางเป้าขยายการลงทุนในประเทศที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ญี่ปุ่น แม้ว่า 2 ประเทศนี้เศรษฐกิจจะไม่เน้นการเติบโตมากนัก แต่จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็เป็นโอกาสเข้าไปขยายการลงทุนได้เช่นกัน ดังนั้น 3 กลยุทธ์หลักบวกกับการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) จะเป็นส่วนผลักดันการเติบโตช่วง 5 ปีข้างหน้าเป็นไปตามเป้าหมายและมีความยั่งยืน
“คงตอบตรง ๆ ไม่ได้เรื่องของการโตของรายได้และกำไร แต่ผมอยากชวนดูการรับรู้รายได้ที่จะเพิ่มขึ้นตามการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ทยอยรับรู้เป็นเมกะวัตต์มากกว่า ซึ่งตามแผนระยะสั้นครึ่งปีหลังจะรับรู้รายได้กำลังการผลิตเพิ่มอีกกว่า 400 เมกะวัตต์ และปี64 คาดว่าจะมีความชัดเจนดีลโรงไฟฟ้า Shale gas ในสหรัฐฯ และดีลการลงทุนตามแผน 3 กลยุทธ์คือ High Growth , High Demand และร่วมลงทุน Synergy ในกลุ่มบ้านปูที่กำลังศึกษารายละเอียดอีกหลายโครงการ
ดังนั้น การเพิ่มขึ้นการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รับรู้รายได้เมกะวัตต์เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เพื่อบรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์อีก 5 ปีข้างหน้านั้น แปลว่าผลประกอบการบริษัทจะเห็นการเติบโตทุก ๆ ปี ขณะที่ทีมบริหารจะดำเนินการควบคู่ไปกับการบาลานซ์พอร์ต ,ความสามารถจ่ายเงินปันผล ,ความสามารถสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้นด้วย”
นายกิรณ กล่าว
ส่องแนวโน้มปี 64 ลุ้นเติบโตรับรู้ COD หลายโครงการ
นายกิรณ ประเมินภาพรวมแผนรับรู้จากแผนการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน Shanxi Lu Guang (SLG) ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,300 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนถือหุ้น BPP กำลังการผลิตเกือบ 400 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสร้างเสร็จและจ่ายไฟเข้าระบบช่วงเดือน ธ.ค.63 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่นกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ คาดทยอย COD ปลายปี 63
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลังงานลมหมุยยินในเวียดนามที่บริษัทเข้าไปซื้อกิจการมากำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มรับรู้กำไรในไตรมาส 1/64 ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจาที่ก่อสร้างเองในระยะที่ 1 กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดเริ่ม COD ช่วงต้นปี 64 หรือปลายไตรมาส 1/64 หรืออย่างช้าเป็นช่วงต้นไตรมาส 2/64 หลังจากก่อนหน้านี้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้เกิดความล่าช้าการขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้าง
ขณะที่แผนต่อไปคือการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจาระยะที่ 2 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์กำลังศึกษาดูความเป็นไปได้โครงการต่อไป ส่งผลให้ปี 64 กลุ่ม BPP จะมีพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานลมค่อนข้างใหญ่ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการศึกษาดีลการลงทุนหรือซื้อกิจการในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีกหลายโครงการเช่นกันเพื่อช่วยให้พอร์ตมีความสมดุลในการเติบโตระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 63)
Tags: BANPU, BPP, INTERVIEW, กิรณ ลิมปพยอม, ตลาดหุ้น, บ้านปู เพาเวอร์, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้า, ไฟฟ้า