สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ต.ค.63 โดยการส่งออกไทยมีมูลค่า 19,376.68 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -6.71% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,330.15 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -14.32% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2,046.53 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ภาพรวมช่วง 10 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 192,372.77 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -7.26% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 169,702.56 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -14.61% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 22,670.21 ล้านเหรียญสหรัฐ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากประเทศต่างๆ ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังในหลายประเทศ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้ากระเตื้องขึ้น
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐที่การส่งออกขยายตัว 17% ขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4, ตลาดเอเชียใต้ขยายตัว 15.6% กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน, ตลาดลาตินอเมริกาขยายตัว 12.9% ตลาดออสเตรเลียขยายตัว 4.2% เป็นต้น
สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มสินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง เนื้อสุกรแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร 2.กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 3.กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 63 และปี 64 นั้นมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลายสินค้ามีศักยภาพในการขยายตัว แม้เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศ นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ทราบถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายของว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้สถานการณ์การค้าโลกมีความผันผวนน้อยลง
อย่างไรก็ดี สินค้าที่ขยายตัวในขณะนี้เป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่ขยายตัวดีอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นสินค้าศักยภาพท่ามกลางโควิด-19 สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน ซึ่งจะสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ดังนั้น การเพิ่มมูลค่าการส่งออกของสินค้าไทยในระยะถัดไป จำเป็นต้องขยายตลาดในสินค้ากลุ่มใหม่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพสูงง
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ประเมินมูลค่าการส่งออกของไทยปีนี้จะหดตัวไม่มากไปกว่า -7% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกต่อเดือนในช่วงที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) เดือนละประมาณ 18,300 ล้านดอลลาร์ แต่หากในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ไทยสามารถส่งออกได้เดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์ ก็จะส่งผลให้การส่งออกทั้งปีหดตัวน้อยกว่า -7%
“ปกติแล้วการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายจะไม่ค่อย pick up เพราะสินค้าได้ทยอยส่งออกไปก่อนหน้า เพื่อให้ทันคริสมาสต์ ก็คงต้องรอดูว่าสินค้าที่ไทยจะถูกตัด GSP ในปีหน้า จะมีการเร่งส่งออกไปก่อนภายในปลายปีนี้หรือไม่”
น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ
สำหรับการส่งออกในปี 64 คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้อย่างแน่นอน เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ จากการที่หลายประเทศในอาเซียนเองมีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก็จะเป็นตัวช่วยหนุนให้การค้าในภูมิภาคเอเชียสามารถเติบโตได้เร็วมากกว่าในภูมิภาคอื่น แต่อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายจากการส่งออกไปในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ทำให้ยังมีการล็อกดาวน์ประเทศอยู่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 63)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การค้าระหว่างประเทศ, ส่งออก, สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, เศรษฐกิจไทย