นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับขึ้นกรอบจำกัด แม้มองว่าตลาดยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่องตามการปรับพอร์ต รับปัจจัยทั้งในส่วนของ MSCI Rebalance , FTSE Rebalance รวมถึงคาดการณ์หุ้นเข้า SET50 และ SET100 ตลอดจนการที่ธปท.อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายปันผลได้ และมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่มีออกมา รวมถึงการที่ไทยได้ร่วมทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
ซึ่งประเด็นต่าง ๆ ตลาดได้รับข่าวบวกไปมากแล้ว ผลักดันให้มีแรงซื้อหนุนดัชนีดีดตัวขึ้นราว 200 จุดในช่วง 3 สัปดาห์ ประกอบกับตลาดหุ้นสหรัฐปิดเมื่อคืนวันศุกร์ปรับตัวลง ก็น่าจะทำให้การปรับขึ้นของดัชนีอาจจะไม่มากนัก พร้อมให้แนวต้านที่ระดับ 1,400 และ 1,408 จุด ส่วนแนวรับอยู่ที่ 1,377 และ 1,370 จุด
นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นในกรอบจำกัด ตามการเลือกลงทุนรายตัว หลังจากที่ตลาดได้ตอบรับปัจจัยบวกไปค่อนข้างมากแล้วหนุนให้ดัชนีปรับขึ้นราว 200 จุดในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตามแรงซื้อปรับพอร์ตของ Fund Flow ทั้งในส่วนของนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาในช่วง 1-2 สัปดาห์ ตอบรับประเด็นข่าวบวกทั้งในส่วนของ MSCI Rebalance , FTSE Rebalance รวมถึงคาดการณ์หุ้นเข้า SET50 และ SET100
นอกจากนี้ยังตอบรับเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายปันผลได้ ,การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการดูแลค่าเงินบาทแล้ว รวมถึงการที่ไทยได้ร่วมทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งถือเป็นกลุ่มความตกลงทางการค้าการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นปัจจัยบวกในระยะกลางถึงยาว
ทั้งนี้ มองว่าการที่ดัชนีไต่ระดับขึ้นมาจากจุดต่ำที่ 1,187 จุด มาถึงระดับ 1,389 จุด หรือเพิ่มขึ้นมาราว 200 จุดในช่วง 3 สัปดาห์ ก็น่าที่จะทำให้การขยับขึ้นระยะต่อไปมีอัตราเร่งที่แคบลง และนักลงทุนจะเข้ามาเลือกซื้อหุ้นรายตัวมากขึ้น หลังหุ้นกลุ่มแบงก์ พลังงาน ปิโตรเคมี รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับความคืบหน้าวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ปรับขึ้นมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ จากความกังวลต่อยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นมากและการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดอาจจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ
พร้อมให้แนวรับที่ 1,377 และ 1,370 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,408 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (20 พ.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,263.48 จุด ลดลง 219.75 จุด (-0.75%) , ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,557.54 จุด ลดลง 24.33 จุด (-0.68%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,854.97 จุด ลดลง 49.74 จุด (-0.42%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 6.54 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 15.31 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 77.11 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 208.25 จุด
- ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดทำการวันนี้ (23 พ.ย.) เนื่องในวันขอบคุณผู้ใช้แรงงาน
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (20 พ.ย.63) 1,389.34 จุด เพิ่มขึ้น 19.92 จุด (+1.45%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,387.50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 พ.ย.63
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (20 พ.ย.63) ปิดที่ 42.15 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 41 เซนต์ หรือ 1%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (20 พ.ย.63) อยู่ที่ 0.89 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 30.26 แข็งค่าจากเย็นวันศุกร์ตามภูมิภาค-จับตาตัวเลขส่งออก ต.ค.
- นักเศรษฐศาสตร์ส่อง 3 มาตรการสกัดบาทแข็งของ ธปท.ไม่ช่วยลดบาทแข็งค่า ด้านทีเอ็มบีชี้แนะงัดยาแรง บังคับต่างชาติทำประกันความเสี่ยงซื้อบอนด์-หุ้น ลดเก็งกำไรบาท ขณะที่กสิกรไทยแนะแก้ต้นเหตุบาทแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้าไม่สมดุล เงินออมไทยสูงเงินลงทุนต่ำ ด้านซีไอเอ็มบี แนะคลังตั้งกองทุนความมั่งคั่ง
- ธนาคารออมสินเปิดตัวสมุยโมเดล ผู้บริหารนำทัพตบเท้าลงพื้นที่ 8-9 ธ.ค.นี้ เล็งอัดสินเชื่อพิเศษเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ เบิกได้ทันที เล็งหั่นภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มโรงแรม 50% ให้จ่ายเป็นเวาเชอร์แทน นำไปให้ลูกค้า เพื่อดึงคนกลับไปเที่ยว คาดเงินสะพัดพันล้านบาท
- ส.อ.ท.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท.สมาคมธนาคารไทย และหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตั้งคณะทำงานสร้างแอปพลิเคชันซื้อขายจองโรงแรม ที่พักภายในประเทศ และจองตั๋วเครื่องบินที่เป็นการท่องเที่ยวแบบครบวงจรรวมถึงการแนะนำร้านอาหารต่าง ๆ โดยให้หน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมกันจัดทำ เนื่องจากขณะนี้แอปส่วนใหญ่ที่ใช้งานลักษณะนี้และได้รับความนิยมจะเป็นของต่างประเทศ เช่น อโกด้า, แอร์บีเอ็นบี
- ภาคธุรกิจรับอานิสงส์มาตรการรัฐถ้วนหน้า “ค้าปลีก-อุปโภคบริโภคท่องเที่ยว-อสังหาฯ” ชี้ “คนละครึ่ง” ปลุกเศรษฐกิจฐานราก บรรยากาศจับจ่ายคึกคัก สัญญาณบวกไต่ระดับฟื้นตัว เดินหน้าอัดฉีดงบโหมแคมเปญโปรโมชั่น “ลดแลกแจกแถม” ทิ้งทวนโกยยอดโค้งสุดท้าย หวังเป็นแรงส่งปีหน้าดันกำลังซื้อขาขึ้น
- “สำนักวิจัย-ธนาคาร” แห่ปรับประมาณการจีดีพีขึ้น “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” ชี้ 3 มาตรการ “คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน-เราเที่ยวด้วยกัน” กระตุ้นเศรษฐกิจ 0.5% หนุนเงินสะพัดแสนล้านบาท “กรุงศรีฯ” แนะอัดมาตรการต่อทั้งสั้นกลาง พุ่งเป้า “บริการ-ท่องเที่ยว” สแตนชาร์ด หนุนกระตุ้นกำลังซื้อ-ลงทุนภาคเอกชน “บรรยง” เสนอรัฐอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่ม แจกตรงสู่กลุ่มเดือดร้อน นายกฯ สั่งหน่วยงานเร่งกระตุ้นต่อทันที หลังตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น
- เอกชนชี้ปีหน้าส่งออกโต 4-5% “อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์” หนุนตลาดจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อาเซียน มีโอกาสเปิด “พาณิชย์” มั่นใจปีนี้ติดลบน้อยลงที่ 6-6.5%
- กมธ.คมนาคม สภาฯ เตรียมพิจารณาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวพร้อมเรียก กรรมการตามมาตรา 44 ให้ข้อมูล 26 พ.ย.นี้ ด้าน “โสภณ ซารัมย์” เตือน หากไม่ฟังผลสรุป กมธ.คมนาคม เจอทั้งกระทู้ถาม และอภิปรายไม่ไว้วางใจ
หุ้นเด่นวันนี้
- CHG (ฟินันเซีย ไซรัส) แนะ”ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 3.30 บาท คาดแนวโน้มกำไร Q4/63 ยังแข็งแกร่งต่อเนื่องจาก High Season ที่มาช้าและเลื่อนมาอยู่ในไตรมาสนี้ ทำให้โมเมนตัมรายได้เงินสดดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึง รพ. RPC และ 304 ที่คาดลุ้นพลิกกำไร ส่วนรายได้ประกันสังคมยังแข็งแรง ล่าสุดยังได้โควตาประกันสังคมเพิ่มอีกราว 5 หมื่นรายในปี 64 ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการเติบโต เราประเมินกำไรปี 63 ที่คาด +7% Y-Y มี Upside ราว 5-8% ขณะที่ปี 64 คาดโตแกร่ง +21% Y-Y
- VGI (เคทีบีฯ) ให้เป้าเชิงกลยุทธ์ 7.80 บาท ประเมินรายได้จากธุรกิจสื่อกำลังฟื้นตัวขึ้น หลังเริ่มเห็นการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาปรับตัวเพิ่มขึ้น MoM ในเดือนต.ค. บริษัทลูกอย่าง KEX (เคอร์รี่เอ็กซ์เพรส) กำลังจะขาย IPO ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ใช้เก็งกำไรในระยะสั้น คาดผลการดำเนินงานจะกลับมาเติบโตโดดเด่นในปี 64/65 ที่ 920 ล้านบาท +323%YoY จากฐานที่ต่ำในปีนี้
- KTB (กรุงศรี) แนะ”ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 13.50 บาท แนะนำสลับหุ้นจาก KBANK ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งในกลุ่มธนาคารในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มทยอยเข้า KTB ที่ได้ประโยชน์จากธีมการลงทุนด้านการเปิดเมืองเช่นเดียวกัน แต่ราคายังล้าหลังมากถึง -34% (ตั้งแต่โควิด-19) คาดมี upside มากกว่า และ downside น้อยกว่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 63)
Tags: CHG, KTB, VGI, คณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์, ตลาดหุ้นไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., หุ้นไทย, โนมูระ พัฒนสิน