TRACE สมาคมธุรกิจซึ่งมุ่งมั่นต่อต้านการให้และรับสินบน สนับสนุนธรรมาภิบาลและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เปิดตัว Bribery Risk Matrix ประจำปี 2563 ซึ่งวัดความเสี่ยงการติดสินบนทางธุรกิจใน 194 ประเทศและดินแดน โดยข้อมูลในปีนี้เผยให้เห็นว่า เกาหลีเหนือ เติร์กเมนิสถาน เซาท์ซูดาน เวเนซุเอลา และเอริเทรีย มีความเสี่ยงจากการติดสินบนทางการค้าสูงที่สุด ขณะที่เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และนิวซีแลนด์ มีความเสี่ยงน้อยที่สุด สำหรับประเทศไทยติดอันดับ 88 ความเสี่ยงระดับปานกลาง
ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริการ่วงลง 8 อันดับจากปี 2562 และหลุดจาก 20 อันดับแรก จากอันดับ 15 ในปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่อันดับ 23 ในปีนี้ ทำคะแนนไป 20 คะแนนจาก 100 คะแนน
โดยคะแนน 1-22 หมายถึงประเทศนั้นๆ มีความเสี่ยงในการให้และรับสินบนต่ำมาก, 23-38 ความเสี่ยงต่ำ, 39-56 ความเสี่ยงปานกลาง, 57-74 ความเสี่ยงสูง และ 75-100 ความเสี่ยงสูงมาก
ส่วนจีนอยู่ในอันดับที่ 126 ด้วยคะแนน 54 คะแนน ซึ่งปานกลางค่อนไปทางสูง อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า จีนได้พยายามลดโอกาสการเรียกสินบนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการปรับปรุงระบบราชการอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่โซมาเลียไต่ขึ้นจากอันดับสุดท้าย ซึ่งติดอันดับมาตั้งแต่ปี 2560-2562 โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 187 ในปีนี้
สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 88 จากทั้งหมด 194 อันดับ และรั้งอันดับที่ 20 จาก 50 ประเทศในเอเชีย ซึ่งดีกว่าจีนซึ่งอยู่ในอันดับที่ 30 ของภูมิภาค โดยไทยทำคะแนนรวมได้ 47 คะแนน ซึ่งหมายถึงมีความเสี่ยงปานกลาง ลดลงเล็กน้อยจากปี 2562 ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 48 คะแนน
TRACE Matrix ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถตรวจสอบเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การติดสินบนในการทำธุรกิจและการค้า ประกอบด้วย (1) ลักษณะและขอบเขตของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชน (2) ทัศนคติของสังคมที่มีต่อการให้สินบนและความสามารถของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการติดสินบน (3) ความโปร่งใสของภาครัฐ และ (4) ความสามารถของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบและเปิดโปงการทุจริต
โดยใน 3 เกณฑ์แรกนั้น ไทยได้คะแนนปานกลาง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาความสามารถของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบการทุจริตนั้น ไทยได้คะแนนย่ำแย่ เนื่องจากเสรีภาพของสื่อและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ TRACE Matrix เริ่มจัดทำเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2557 เพื่อตอบสนองชุมชนธุรกิจที่ต้องการข้อมูลที่เชื่อถือได้มากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการให้และรับสินบนทั่วโลก โดยชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเผชิญกับการเรียกสินบนเมื่อทำธุรกิจในประเทศที่ถูกจัดอันดับ
“TRACE Matrix ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงธุรกิจเป็นหลัก ด้วยการรวบรวมแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องหลายแหล่งที่ไม่จำกัดเพียงเพื่อแสดงการรับรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน แต่ยังสะท้อนความมุ่งมั่นของประเทศต่างๆ ในการป้องกันการคอร์รัปชันผ่านทางการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ เพิ่มความโปร่งใส พัฒนาความทันสมัยของระบบราชการ และให้อำนาจกับประชาสังคม”
Gonzalo Guzman ที่ปรึกษาทั่วไประดับโลก ฝ่ายต่อต้านการคอร์รัปชันที่ Unilever กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 63)
Tags: Bribery Risk Matrix, TRACE, คอร์รัปชั่น, ติดสินบน