นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบในช่วงวันที่ 9-15 พ.ย.63 ว่า ราคาน้ำมันดิบโลกและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดเอเซียมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัสเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 42.84 และ 40.87 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.49 และ 2.96 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
เนื่องจากกลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มปรับนโยบายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรล/วันออกไปอีกถึงกลางปีหน้า รวมทั้งความคาดหวังของนักลงทุนต่อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่บริษัท Pfizer และ BioNTech พัฒนาร่วมกันว่าจะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับข่าวความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลังจากบริษัท Moderna ในสหรัฐฯ ประกาศผลการทดสอบวัคซีนที่ระดับประสิทธิผล 94.5% และกำลังดำเนินการตรวจสอบข้อมูลด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อส่งให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization: EUA) ภายในปีนี้
ประกอบกับ กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตที่ 7.7 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปอีก 3-6 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนปลายปีนี้ เนื่องจากตลาดยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากลิเบีย โดยกลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. และ 1 ธ.ค.63 เพื่อพิจารณาถึงนโยบายการปรับลดกำลังการผลิต รวมทั้งติดตามการดำเนินการตามแผนระดมทุนของ Saudi Aramco นายวัฒพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันโลก วันที่ 9-15 พ.ย.63 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 42.84 และ 40.87 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.49 และ 2.96 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
- กลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มปรับนโยบายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ม.ค.64 ออกไป เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะฉุดอุปสงค์น้ำมันในตลาด และจนกว่าจะเริ่มมีการใช้วัคซีนอย่างเป็นทางการ
- ความคาดหวังของนักลงทุนต่อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่บริษัท Pfizer และ BioNTech พัฒนาร่วมกันว่าจะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกรวมถึงความต้องการใช้น้ำมันให้เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา สถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 พ.ย. 63 ปรับตัวลดลงกว่า 5.1 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 482 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 0.9 ล้านบาร์เรล
ทั้งนี้ ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย น้ำมันเบนซิน: ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 46.75, 45.36 และ 46.35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.75, 3.52 และ 3.64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
- ข่าววัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียทยอยฟื้นตัว ท่ามกลางการส่งออกน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศจีน ไต้หวัน และอินเดีย
- PetroChina ในจีนมีแผนลดอัตราการกลั่นลงในปี 64 เนื่องจากคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันเบนซินในจีนจะลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 63 อุปสงค์ในจีน ลดลง 2.4%
- Shell ประกาศลดกำลังการกลั่นที่โรงกลั่น Pulau Bukom (500,000 บาร์เรล/วัน) ในสิงคโปร์ลง 50% (ภายใน 1 – 2 ปี) ตามแผน Net-Zero Emissions ภายในปี 93 ทั้งนี้ Shellมีแผนลดจำนวนพนักงานจากปัจจุบัน 1,300 ตำแหน่ง มาอยู่ที่ 1,100 ตำแหน่ง ภายในสิ้นปี 64 และลดลงมาอยู่ที่ 800 ตำแหน่ง ในปี 66
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 พ.ย. 63 ลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 225.4 ล้านบาร์เรล
น้ำมันดีเซล: ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 47.03 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 4.63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
- แรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการปรับลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค และการขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตามความต้องการใช้ยังคงอ่อนแอจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
- Platts รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่ FOIZ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัปดาห์สิ้นสุด 9 พ.ย. 63 ลดลง 0.09 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 5.36 ล้านบาร์เรล
ค่าเงินบาทของไทย: ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.43 บาท/ลิตร (รวมค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา – กรุงเทพฯ 0.15 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.57 บาท/ลิตร จากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.68 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.5129 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.54 บาท/ลิตร ขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.71 บาท/ลิตร)
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง: ณ วันที่ 15 พ.ย. 63 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 60,216 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 30,867 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 29,349 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 37,715 ล้านบาท บัญชี LPG -8,366 ล้านบาท)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ย. 63)
Tags: ราคาน้ำมัน, วัฒนพงษ์ คุโรวาท, สนพ., โอเปก, โอเปกพลัส